ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : Still Alice (2014)

Wirote Aroonmanakun
3 min readOct 6, 2022

Still Alice เป็นหนังอีกเรื่องที่ตัวเอกเป็นนักภาษาศาสตร์. Julianne Moore รับบทเป็น Alice Howland อาจารย์ภาษาศาสตร์ชื่อดังที่ Columbia University แต่ชีวิตกลับผกผันหลังจากพบว่าตัวเองเป็น early-onset Alzheimer’s [1] ซึ่งเป็นอัลไซเมอร์ที่มาทางพันธุกรรมและเริ่มมีผลต่อเธอหลังฉลองครบรอบวันเกิด 50 ปี. หนังสร้างโดยอิงจากนิยายชื่อเดียวกันที่เขียนโดย Dr.Lisa Genova นักประสาทวิทยาที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับความผิดปกติทางสมอง. แม้จะไม่ได้สร้างขึ้นจากเรื่องจริง แต่รายละเอียดต่างๆ ในหนังมีความสมจริงในระดับหนึ่งเพราะมีการศึกษาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

หนังเริ่มต้นด้วยการเผยให้เห็นอาการหลงลืมเล็กน้อย. เริ่มจากลืมคำว่า lexicon ในระหว่างการบรรยายวิชาการ. ลืมสถานที่หลังจากออกไปวิ่งออกกำลังกายนอกบ้าน. ด้วยความวิตกว่าจะเป็นผลมาจากเนื้องอกในสมองหรือไม่ Alice ปรึกษาแพทย์ทางสมอง. ผลตรวจ MRI ไม่พบความผิดปกติในสมอง แต่หมอกลับสงสัยเรื่อง early-onset Alzheimer’s มากกว่า

หนังทำให้เห็นถึงผลของโรคอัลไซเมอร์ต่อชีวิตของ Alice และครอบครัว. อัลไซเมอร์ที่คนทั่วไปเข้าใจอาจว่าเป็นโรคคนวัยชรา ที่มักจะหลงลืมเรื่องราวที่ผ่านมา ไม่สามารถจดจำว่าได้ทำอะไรไปแล้วหรือยังไม่ได้ทำ. ทำให้ต้องมีผู้อยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อถึงวัยชรา ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตระหนกแต่อย่างไร

แต่สำหรับ Alice ในวัยซึ่งเธอกำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงานในฐานะอาจารย์ในสาขาวิชาภาษาศาสตร์. ในงานซึ่งเธอวิจัยเรื่องการรับภาษาของเด็ก ในความเป็นตัวเธอซึ่งชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนอื่นๆ. ทั้งหมดกำลังจะสูญสิ้นไปเพราะโรคร้ายนี้. ที่เธอต้องทำคือพยายามต่อสู้กับโรคร้าย ไม่ให้กัดกินตัวตนของเธอที่เคยเป็นมา แม้จะรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วเวลานั้นก็จะมาถึง

Julianne Moore แสดงในหนังเรื่องนี้ได้ดีมาก ทำให้คนดูเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากขึ้น สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเริ่มรับรู้ชะตากรรมตนเอง. การเตรียมการรับมือกับโรค อารมณ์และสภาพความรู้สึกเมื่ออัลไซเมอร์มีผลต่อชีวิตของเธอและคนรอบข้างในระดับต่างๆ. จึงไม่น่าแปลกใจที่ Julianne Moore ได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปี 2015 จากหนังเรื่องนี้

ชีวิตที่แปรผัน

หนังเล่นกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นจากอาการของอัลไซเมอร์. หลังจาก Alice รับรู้ถึงการเป็นอัลไซเมอร์ของเธอซึ่งมาจากพันธุกรรม. ชีวิตการงานที่เคยรุ่งโรจน์ก็อับเฉา Alice ต้องออกจากงานเพราะผลของอาการที่กระทบต่อการสอนของเธอ.

ความที่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต Alice ถึงกับบอกสามีว่าเธออยากเป็นมะเร็งมากกว่า อย่างน้อยเธอก็ยังคงตัวตนของตัวเองอยู่ได้แม้ร่างกายจะเสื่อมถอย. แต่กับอัลไซเมอร์ ความที่รู้ว่าจะสูญเสียตัวตนไปอย่างไร Alice จึงใช้โทรศัพท์มือถือตั้งเตือนตัวเองให้คอยตอบคำถามพื้นฐาน : ลูกสาวคนโตชื่ออะไร, ถนนที่อยู่ชื่ออะไร, เดือนเกิดของตัวเองคือเดือนไหน. Alice บันทึกคลิปวิดีโอให้ตัวเองไว้ในคอมพิวเตอร์. หากวันใดที่เธอตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะบอกให้ตัวเองมาดูคลิปนี้. ในวิดีโอคลิปนี้ Alice บอกขั้นตอนให้ตัวเองในอนาคตไปหยิบยานอนหลับที่ซ่อนไว้มากินให้หมดเพื่อฆ่าตัวตาย. อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน. วันหนึ่ง Alice ก็ทำมือถือหาย กว่าสามีเธอจะเจอมือถือนั้นก็อีกหนึ่งเดือนถัดมาแม้ว่าเธอจะคิดว่าเพิ่งทำหายไปเมื่อคืนเอง. แล้วเธอก็จำไม่ได้แล้วว่าต้องใช้มือถือทำอะไร.

แต่วันหนึ่ง หลังจากที่คุยผ่านวิดีโอออนไลน์กับลูกสาวคนเล็ก Alice ต้องการจะเปิดไฟล์วิดีโอที่ลูกสาวส่งให้ดู แต่กลับไปเจอคลิปวิดีโอตัวเองที่อัดเอาไว้. แม้ในคลิปจะบอกขั้นตอนว่าต้องไปหยิบยาที่ไหนแล้วทำอะไร แต่พอทำจริงเธอกลับจำขั้นตอนรายละเอียดไม่ได้ ต้องเปิดคลิปดูซ้ำๆหลายรอบ และเมื่อถูกขัดจังหวะด้วยผู้ดูแลที่เดินเข้ามาในบ้าน เธอก็ทำยาหล่นกระจายแล้วก็ลืมว่ากำลังจะต้องทำอะไร

หนังทำให้เห็นถึงความถดถอยที่เกิดขึ้นในชีวิตของ Alice. เธอมักจะถามคำถามซ้ำกับที่เคยถามไปเมื่อครู่. จำสถานที่ไม่ได้ เช่น จำไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน หรือหาห้องน้ำในบ้านไม่เจอ. นึกถึงคำที่ต้องการจะพูดไม่ได้ การพูดเริ่มช้าลงและลำบากมากขึ้น อ่านหนังสือไม่ได้เหมือนแต่ก่อน. ในฉากที่สามีถามเธอในร้านไอศกรีมว่า Ali, do you still wanna be here? ซึ่งต้องการพูดถึงเรื่องที่เคยคุยกันค้างไว้เมื่อหลายวันก่อนว่าเขาจะย้ายไปรับงานใหม่ในอีกเมืองและอยากให้เธอไปด้วย แต่เธอยังคงอยากอยู่ที่นิวยอร์ก. Alice กลับเข้าใจว่าเขาถามว่าจะออกจากร้านไอศกรีมหรือยัง

ในหนังมีฉากที่ Alice ในฐานะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไปพูดในงานสัมมนาของ alzheimer’s association ถ้อยคำที่เตรียมบ่งบอกได้ดีถึงสภาวะของเธอ ว่าเธอกำลังเรียนรู้ the art of losing อยู่ทุกวัน. อดีตและความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านมา ที่ทำให้เธอเป็น Alice นักภาษาศาสตร์ดังเช่นทุกวันนี้กำลังค่อยๆ มลายหายไป. แม้พฤติกรรมของเธอจะแตกต่างไปจากเดิมจนทำให้คนรอบข้างมองเธอเปลี่ยนไป แต่ขอให้เข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโรค และเธอหวังว่าคนรุ่นต่อไปจะพบวิธีการรักษาและไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนเธอ. เธอไม่ได้ทนทุกข์ตลอดเวลา เพราะก็มีวันที่เธอรู้ว่าเธอมีความสุข เธอเพียงพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะคงความเป็นตัวตนของเธอไว้และยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับคนรอบข้างได้ [2]

Good morning. It’s an honor to be here. The poet Elizabeth Bishoponce wrote: ‘the Art of Losing isn’t hard to master: so many things seem filled with the intent to be lost that their loss is no disaster.’ I’m not a poet, I am a person living with Early Onset Alzheimer’s, and as that person I find myself learning the art of losing every day. Losing my bearings, losing objects, losing sleep, but mostly losing memories…

All my life I’ve accumulated memories — they’ve become, in a way, my most precious possessions. The night I met my husband, the first time I held my textbook in my hands. Having children, making friends, traveling the world. Everything I accumulated in life, everything I’ve worked so hard for — now all that is being ripped away. As you can imagine, or as you know, this is hell. But it gets worse. Who can take us seriously when we are so far from who we once were? Our strange behavior and fumbled sentences change other’s perception of us and our perception of ourselves. We become ridiculous, incapable, comic. But this is not who we are, this is our disease. And like any disease it has a cause, it has a progression, and it could have a cure. My greatest wish is that my children, our children — the next generation — do not have to face what I am facing. But for the time being, I’m still alive. I know I’m alive. I have people I love dearly. I have things I want to do with my life. I rail against myself for not being able to remember things — but I still have moments in the day of pure happiness and joy. And please do not think that I am suffering. I am not suffering. I am struggling. Struggling to be part of things, to stay connected to whom I was once. So, ‘live in the moment’ I tell myself. It’s really all I can do, live in the moment. And not beat myself up too much… and not beat myself up too much for mastering the art of losing. One thing I will try to hold onto though is the memory of speaking here today. It will go, I know it will. It may be gone by tomorrow. But it means so much to be talking here, today, like my old ambitious self who was so fascinated by communication. Thank you for this opportunity. It means the world to me. Thank you.

แน่นอนว่า ความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้น ความสามารถทางภาษาที่ถดถอยทำให้การสื่อสารและการอยู่ร่วมกับคนรอบข้างยากขึ้นเรื่อยๆ. โรคนี้จึงไม่ได้มีผลต่อผู้ป่วยเพียงข้างเดียว แต่กับครอบครัวที่ต้องค่อยๆ เห็นคนที่ตัวเองรักเปลี่ยนไปก็เป็นความเจ็บปวดที่ยากจะทำใจรับได้. หากเราต้องเห็นคนที่เรารักไม่ว่าจะในฐานะ แม่ พ่อ ภรรยา สามี อยู่ในสภาพถดถอยนี้ สื่อสารกันได้น้อยลงเรื่อยๆ เราก็คงรู้สึกเจ็บปวดใจไม่น้อย. ผู้ป่วยเองอาจค่อยๆสูญเสียความทรงจำไปเรื่อยๆ จนไม่รับรู้ถึงตัวตนหรือคนรอบข้าง แต่กับครอบครัวที่ยังคงมีภาพความจำถึงตัวตนในอดีตของคนที่เรารัก แม้ว่าเธอหรือเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด แต่ภาพความทรงจำในอดีตทำให้เรารู้ว่านี่คือคนที่เรารัก และยังเป็นคนๆ นั้นสำหรับเราอยู่ตลอดไป

แม้ว่าหนังเรื่อง Still Alice จะสะท้อนปัญหาของโรคอัลไซเมอร์ที่มีได้ชัดเจน แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า ในความเป็นจริงความเสื่อมถอยของสมองจะไม่รวดเร็วจนถึงขั้นแทบจะไม่สามารถพูดสื่อสารได้ในระยะเพียงปีเดียวแบบในหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเสื่อมถอยมากถึงขั้นนั้น

หนังหลายเรื่องจับประเด็นเรื่องอลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมมาใช้ในเรื่อง. Rise of the Planet of the Apes (2011) ใช้เรื่องการคิดค้นยาเพื่อรักษาอัลไซเมอร์ ทำให้มีการทดลองไวรัสที่ช่วยซ่อมแซมเพิ่มพูนการทำงานเซลล์สมองกับลิงชิมแปนซี ไวรัสส่งผลให้ลิงฉลาดตามที่คาดแต่กลับมีผลร้ายกับมนุษย์ทำให้ป่วยล้มตายลง. หรือเรื่อง The Notebook (2004) เสนอเรื่องราวความรักของชายชราที่มาอยู่สถานพยาบาลผู้ป่วยเพื่ออ่านเรื่องราวความรักของคนสองคนที่เขียนไว้ในสมุดโน้ตให้หญิงที่ตนรักฟัง. นางเอกป่วยด้วยอาการสมองเสื่อมไม่สามารถจดจำคนในครอบครัวได้เลย ต้องมาพักในสถานพยาบาลนั้น. การอ่านเรื่องเล่าความรักของทั้งสองคนค่อยๆ ทำให้เธอจำได้ในที่สุดว่าตัวเองเป็นใครและเขาคนนั้นคือใคร. แม้ความทรงจำจะกลับมาชั่วครู่ไม่กี่นาทีแล้วก็ลืมไปอีก. เขาก็ยังคงเพียรพยายามเล่าเรื่องความรักของเขาทั้งคู่อยู่ซ้ำๆ เพียงเพื่อให้ได้เวลาที่จดจำกันได้ไม่กี่นาทีนั้นคืนมา.

อัลไซเมอร์กับผลทางภาษา

dementia หรือภาวะสมองเสื่อม ส่งผลต่อการสูญเสียความจำ ความสามารถในการคิด และการสื่อสารกับบุคคลอื่น ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน. dementia เกิดมาจากความผิดปกติทางสมอง เป็นอาการที่เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่พบคือจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease หรือ AD). [3] แม้เรายังไม่ทราบสาเหตุการเกิด AD ที่ชัดเจน แต่จะพบการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งที่ไปจับกับเซลล์สมองทำให้เซลล์สมองนั้นเสื่อมหรือฝ่อลง

ผลกระทบของ AD ต่อความสามารถทางภาษา [4] ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารและการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น. AD มีสามระยะ. ในระยะแรกของ AD ความจำระยะสั้นและระยะกลางจะถูกกระทบ แต่ก็ยังสามารถพูดคุยสื่อสารได้ อาจมีปัญหาเรื่องคำ นึกคำที่อยากจะพูดไม่ออก อาจมีอาการหดหู่หรือวิตกกังวล เพราะผู้ป่วยเริ่มรับรู้ปัญหาและความเสื่อมถอยของตนเอง บางรายอาจปลีกตัวแยกจากสังคม.

ระยะกลางปัญหาจะเริ่มชัดเจนขึ้น ระยะนี้ปกติกินเวลา 2–10 ปี. ผู้ป่วยเริ่มไม่สามารถจำได้ว่าตนเองกำลังคิดอะไร ทำให้ไม่สามารถสื่อสารความคิดตัวเองออกมา. การสนทนาจึงยากลำบากเพราะผู้ป่วยมักจะตอบไม่ตรงคำถาม. บางรายอาจพูดภาษาแม่ของตนแม้จะไม่ค่อยได้ใช้แล้ว. บางรายก็พูดคำ หรือประโยคซ้ำๆ. ไม่สามารถเขียนหรืออ่านได้ และมีปัญหากับสภาพแวดล้อมที่อยู่หลงลืมทั้งเวลาและสถานที่.

ระยะสามกินเวลา 1–3 ปี ในระยะนี้สมองเสียหายไปถึงสมองส่วนหน้า (frontal lobe) เซลล์สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การมองเห็น ได้รับความเสียหาย. ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำส่วนใหญ่ รับประทานอาหารได้น้อยลง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเพราะภาวะที่เกิดจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

ในระยะแรกนั้นผู้ป่วยยังคงอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้แม้มีปัญหาการสื่อสารบ้าง แต่ผู้ป่วยในระยะสองและสามจะมีปัญหาเรื่องภาษามากขึ้นจนสื่อสารกันไม่ได้ ทำให้การดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงมีการศึกษาทดลองใช้ยาต่างๆ เพื่อชะลออาการหรือหาวิธีการกระตุ้นการใช้ภาษา [5] เพื่อชะลอความเสื่อมถอยทางภาษา

ภาษากับสมอง

นอกจากอัลไซเมอร์จะมีผลต่อการใช้ภาษา การเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บทางสมองก็มีผลต่อการใช้ภาษาได้เช่นกัน. Aphasia [6] เป็นคำที่บอกถึงความบกพร่องทางภาษาที่เกิดจากการบาดเจ็บของสมอง มักมาจากเหตุของ stroke หรือเส้นโลหิตในสมองแตก. สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษาคือ ส่วน Wernicke และ Broca. ความเสียหายในส่วน Wernicke ทำให้เกิดอาการ receptive aphasia คือไม่สามารถรับรู้ภาษาได้เหมือนปกติ ไม่รู้จักคำที่ได้ยินหรือเห็น ไม่สามารถเข้าใจความหมายของข้อความ หากพูดออกมาก็เป็นคำหรือข้อความที่ไม่สื่อความ. แต่หากความเสียหายเกิดขึ้นในส่วน Broca จะทำให้เกิดอาการ expressive aphasia คือไม่สามารถสร้างภาษาได้เหมือนปกติ ไม่สามารถเขียนหรือพูดคำหรือข้อความที่ต้องการสื่อได้เหมือนคนปกติ มักพูดได้เป็นประโยคสั้นๆ พูดเป็นคำ ๆ ขาดการเชื่อมโยง หรือนึกคำที่จะใช้ไม่ออก

อ้างอิง

[1] https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/alzheimers-disease/earlyonset-alzheimer-disease

[2] https://www.imdb.com/title/tt3316960/quotes/?ref_=tt_trv_qu

[3] https://www.cdc.gov/aging/dementia/index.html

[4] https://wwwช.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4555976/

[5] https://www.dementia.org.au/resources/dementia-language-guidelines

[6] https://www.headway.org.uk/about-brain-injury/individuals/effects-of-brain-injury/communication-problems/language-impairment-aphasia/

--

--