ภาษาไทย ภาษาแห่งอนาคตของไทย
๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีคือวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นวันที่คนรักภาษาไทยและหน่วยงานต่าง ๆ จะจัดงานและกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยกันอย่างแพร่หลาย. ปี ๒๕๖๗ ก็คงเป็นอีกปีหนึ่งที่ไม่น่าจะแตกต่างกัน. เพื่อส่งเสริมและแสดงถึงความสำคัญของภาษาไทย หัวข้อการสนทนา การเสวนา การบรรยายทางวิชาการเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยมีการจัดกันแพร่หลายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้.
ภาษาไทยในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
ปี ๒๕๖๗ นี้เป็นปีที่กระแสเรื่อง AI เป็นที่กล่าวถึงกันแพร่หลาย. ความสามารถทางภาษาของ generative AI อย่าง ChatGPT, Claude, หรือ Gemini ก่อให้เกิดความตื่นตัวและหวาดวิตกว่า AI จะส่งผลอย่างไรต่อคนทำงานด้านภาษา. ความสามารถทางภาษาที่หลากหลายมากขึ้นทำให้ AI ณ ปัจจุบันสามารถใช้ภาษาไทยได้ดีมากขึ้น. คำถามต่าง ๆ เริ่มเกิดตามมามากมาย. AI จะมีผลกระทบอะไรบ้างต่อการศึกษาภาษาและวรรณกรรมไทย. หาก AI สามารถมาสอนภาษาแทนคนได้มากขึ้น อาชีพครู นักภาษา นักเขียน จะหายไปหรือไม่ และจะต้องปรับตัวกันอย่างไร. นักเขียนจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกับนักวาดภาพและนักประพันธ์เพลงหรือไม่ที่ AI สามารถทำงานแทนได้.
เพราะ AI มีความสามารถอันน่าทึ่งด้านภาษา สามารถแปลภาษา สามารถเขียนด้วยลีลาหรือสไตล์การเขียนแบบไหนก็ได้. ขอเพียงให้มีงานที่ AI เคยอ่านในระหว่างการฝึกสอนโมเดลภาษา AI ก็สามารถเขียนในสไตล์ภาษาแบบนั้นได้. นอกจากเรื่องภาษา ตัวเนื้อหาสาระงานที่ AI เคยอ่านและทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านนั้น AI สามารถนำความรู้เหล่านั้นมาตอบคำถามต่าง ๆ ได้. ด้วยความสามารถเหล่านี้ของ AI คนจำนวนมาจึงเริ่มหันมาใช้ประโยชน์จาก AI ให้ช่วยทำงานต่าง ๆ.
งานที่เป็นอาชีพอิสระและทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือทำงานออนไลน์เป็นหลักมีความเสี่ยงสูงที่ถูกแทนที่ด้วย AI ได้ง่าย. งานนักแปล นักเขียนอิสระ AI agent ที่ถูกกำหนดบทบาทมาให้ทำงานในลักษณะนั้นสามารถเข้ามาแทนที่ได้ไม่ยาก. แม้ในทางปฏิบัติจริง จะยังมีนักแปลหรือนักเขียนอยู่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ AI ทำให้ แต่จำนวนคนที่ทำงานเหล่านี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีมากแบบในอดีต. ส่วนงานที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหรือองค์กรใหญ่ โอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วย AI จะยากและช้ากว่า. แม้ AI agent จะถูกกำหนดบทบาทให้ทำหน้าที่สอนและติดตามความก้าวหน้าของการเรียนเนื้อหาวิชาที่ระบุได้ แต่บทบาทนี้ก็เป็นเพียงงานส่วนหนึ่งของครูเท่านั้น. การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก่อนน่าจะเป็นการรับเอา AI มาเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษา ให้ AI ทำหน้าที่เป็น tutor ส่วนตัวในเนื้อหาที่กำหนด และให้ครูมีบทบาทในการนำการเรียนการสอนในชั้นเรียนอยู่. ซึ่งแน่นอนว่า ครูก็ต้องมีการปรับตัวทำงานร่วมกับ AI ให้ได้จึงจะอยู่ต่อได้. ส่วนในระยะยาว คงต้องรอดูการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถของ AI ก่อนว่าจะเป็นเช่นไรและจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างไร.
ภาษาไทยกับ AI
ความสามารถด้านภาษาไทยของ AI ได้เพิ่มขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนในโมเดล GPT-4o และ Claude 3.5. AI สามารถใช้ช่วยทำงานเขียน ช่วยทำงานแปลได้ดี และยังเริ่มฉายแววความสามารถในการแต่งบทกวีภาษาไทยได้. การใช้ AI ในงานภาษาไทยจึงไม่ได้เป็นปัญหามากเหมือนแต่ก่อน. หลายคนเลือกใช้ AI เพื่อช่วยทำงานที่เมื่อก่อนทำเองได้ยากหรือใช้เวลานาน เช่น การแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ การเขียนบทกวีหรือแปลบทกวีต่างประเทศเป็นภาษาไทย หรือแปลบกวีไทยเป็นบทกวีภาษาต่างประเทศ. ตัวอย่างของการทดลองใช้ GPT-4o แปลบทกวีไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งร้องและบรรเลงเพลงโดยใช้ suno สามารถดูได้ที่ <AI poetry and music>.
แม้ว่า AI จะรู้ภาษาไทยมากกว่าเดิม แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดในงานหลายอย่างที่ไม่สามารถทำงานอย่างที่ต้องการได้ครบ. AI อาจช่วยสร้างตัวอย่างบทอ่านและออกข้อสอบวัดผลให้ได้ แต่ข้อสอบที่ได้ก็อาจจะไม่ได้ตรงตามสิ่งที่ต้องการจะวัดประเมิน. AI อาจช่วยเขียนงานแต่ละอย่างได้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นออกแบบโครงสร้างงานซับซ้อนและเขียนทุกอย่างออกมาได้ในคราวเดียว. ในปัจจุบัน ยังเป็นลักษณะที่ต้องมีคนคอยดูคอยกำกับคัดเลือกและปรับแก้ไขงานแต่ละส่วนเพื่อให้ได้ภาพรวมงานที่ต้องการได้. การทำงานร่วมกับ AI จึงเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานต่าง ๆ ในอนาคต.
ภาษาใครในแผ่นดินไทย
ในยุคที่รัฐสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาลงทุน ค้าขายในประเทศไทยมากขึ้น และสนับสนุนให้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น โอกาสที่จะมีคนต่างชาติมาจับจองตั้งถิ่นฐานในประเทศก็จะมีมากขึ้น. จึงไม่แปลกหากจะพบย่านการค้าใดที่เหมือนเป็นพื้นที่ต่างประเทศ มีแต่ชาวต่างชาติที่พูดภาษาอื่นเต็มไปหมด. เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะแผ่นดินไทยก็เคยรองรับชาวต่างชาติอพยพมาช้านานแล้ว แต่ในอดีต ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาเพื่ออาศัยในแผ่นดินไทยอย่างถาวร ได้เรียนรู้ปรับตัวเข้ากับคนในสังคมไทย เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจนลูกหลานกลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์.
แต่ในปัจจุบัน ชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก ความจำเป็นในการปรับตัวให้อยู่ในสังคมไทยได้ก็อาจไม่มากเท่าเดิม. ถ้าธุรกิจที่ทำเป็นการค้าขายกับคนชาติตัวเองเป็นหลัก ใช้คนของชาติตัวเองเป็นลูกจ้าง เป็นผู้ร่วมกิจการ เป็นผู้ใช้บริการ. แผ่นดินไทยเป็นเพียงพื้นที่ทำมาหากินเท่านั้น. เหมือนเป็นการโยกย้ายชุมชนตนมาทำมาหากินที่เมืองไทยโดยที่ประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจเต็มที่จากการลงทุนกิจการนั้น. กลับกลายเป็นว่ามีพื้นแผ่นดินบางแห่งที่คนไทยเองไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้หรือเข้าไปได้ก็ไม่สามารถคุยกับใครด้วยภาษาไทยได้.
หนทางหนึ่งที่ช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อาจทำได้ด้วยการกำหนดสัดส่วนคนทำงานที่เป็นคนไทยหรือพูดภาษาไทยได้จำนวนหนึ่ง. หากมีการจ้างงานคนไทย ก็เป็นการลงทุนที่ไทยเองก็ได้ประโยชน์. หากจ้างคนชาติตนเองที่พูดภาษาไทยได้ ก็ยังเป็นประโยชน์ทางอ้อม. การเรียนรู้ภาษาไทยเป็น soft power ที่ทำให้คนต่างชาติเรียนรู้และเข้าใจคนไทยและสังคมวัฒนธรรมไทยมากขึ้น อยู่ร่วมกับคนไทยในสังคมไทยได้ดีมากกว่าการมองประเทศไทยเป็นสถานที่ทำมาค้าขายอย่างเดียว. รัฐสามารถสนับสนุนแนวทางนี้ได้หลายทาง นอกจากการบังคับให้มีคนทำงานที่พูดภาษาไทยได้แล้ว อาจส่งเสริมด้วยการให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่พูดหรือใช้ภาษาไทยได้ เช่น ได้ visa ภาษาไทยที่อนุญาตให้อยู่ในไทยได้นานกว่า visa ทั่วไป เป็นต้น.
ภาษาไทยภาษาแห่งอนาคต
แต่เดิมเราคิดว่าการรู้และสามารถใช้ภาษาได้มากกว่าหนึ่งภาษาเป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จในโลกข้างหน้า. ปัญหาการสนับสนุนให้คนไทยรู้และใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นได้ดีเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกกล่าวถึงมาตลอด และดูเป็นปัญหาที่แก้ไขอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ. ความสามารถภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยยังไม่พัฒนาขึ้นแบบที่หวัง และที่แย่กว่านั้น ทักษะการอ่านภาษาไทยเองกลับแย่ลงตลอดโดยเห็นได้จากผลการสอบของ PISA หลายครั้งที่ผ่านมา.
หากคิดว่า AI จะมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเรื่องงานภาษาต่างประเทศ ปัญหาการขาดทักษะภาษาต่างประเทศอาจไม่รุนแรงแบบเดิม. AI สามารถช่วยแปลภาษาทำให้อุปสรรคจากการไม่รู้ภาษาต่างประเทศลดลงได้. AI สามารถช่วยอ่านและดูวิดีโอภาษาต่าง ๆ แล้วสรุปเนื้อหาสำคัญมาเป็นภาษาไทยให้ได้. สามารถแปลหรือถ่ายทอดงานเขียนภาษาไทยไปเป็นภาษาอื่น ๆ ได้.
แม้ AI จะสามารถช่วยงานต่าง ๆ แต่ข้อจำกัดของ AI ที่อาจให้ข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลไม่ถูกต้องเป็นปัญหาสำคัญของการใช้งาน AI. ผู้ที่จะใช้งานหรือทำงานร่วมกับ AI ได้ดีจึงต้องมีความสามารถในการประเมินสิ่งที่ได้จาก AI รู้ว่าส่วนไหนที่มีปัญหาต้องปรับแก้ไข. ความสามารถส่วนนี้ต้องอาศัยพื้นฐานทักษะการอ่านที่ดี สามารถอ่านจับประเด็น จับใจความสำคัญ ตีความที่ซ่อนในตัวบท และประเมินความถูกต้องของเรื่องได้.
หากจะต้องเลือกพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน สำหรับคนไทยแล้ว การอ่านภาษาไทยเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ง่ายกว่าการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาต่างประเทศ. ภาษาไทยเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยเรียนรู้ได้เอง ภาษาไทยเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงความรู้ในแขนงวิชาอื่น ๆ ได้เร็วกว่า. AI สามารถช่วยอ่านและสรุปหรือแปลงานภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยให้เราได้. AI สามารถช่วยเขียนงานต่าง ๆ ให้ได้ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ. สิ่งที่เราต้องทำเองเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับ AI และใช้ประโยชน์จาก AI ได้เต็มที่คือการอ่านด้วยตัวเอง. ทักษะความสามารถในการอ่านภาษาไทยจึงเป็นกุญแจสำคัญในโลกข้างหน้า.
การส่งเสริมการใช้ภาษาไทยจึงไม่ได้มีเพียงเรื่องการใช้คำ ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับประเภทงานต่าง ๆ ในอนาคตที่ AI จะมามีบทบาทสำคัญและมีการเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติมาลงทุนและอาศัยในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยอ่านภาษาไทยได้อย่างแตกฉาน สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์งานที่อ่านได้อย่างลุ่มลึก. การสนับสนุนให้คนต่างชาติที่มาทำงานในไทยได้เรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเข้าใจและอยู่ร่วมกับคนไทยในประเทศได้ดีขึ้น. การส่งเสริมภาษาไทยคือการทำให้ภาษาไทยมีบทบาทและเป็นหลักในการเรียน การแสวงหาความรู้ การทำงาน การใช้ชีวิตและการพัฒนาของประเทศ และทำให้ภาษาไทยเป็นหลักสำคัญของความเป็นไทยตลอดไป.