‘อยากให้พรุ่งนี้เป็นเมื่อวานจัง วันนี้จะได้เป็นวันศุกร์’ ถามว่า ‘วันนี้คือวันอะไร?’

Wirote Aroonmanakun
2 min readMay 14, 2022

--

สืบเนื่องจากข้อถกเถียงใน Sanook (https://www.sanook.com/campus/1376581/) ว่าคำตอบเป็นวันพุธหรือวันอาทิตย์ ในที่นี้จะขอเสนอหาคำตอบจากมุมมองทางภาษาศาสตร์

อยากให้ …เป็น…จัง

ประโยคนี้เป็นประโยคที่มีกริยาแสดงความต้องการซึ่งเป็นหนึ่งใน subjunctive mood แสดงถึงความปรารถนาอยากให้เกิดบางสิ่งบางอย่าง เช่น อยากให้คุณแม่เป็นครูจัง แสดงว่า ณ ขณะที่พูดนั้น คุณแม่ไม่ได้เป็นครู เราสามารถอธิบายเรื่องนี้โดยใช้วิธีการทางตรรกวิทยาว่ามีความต่างระหว่างโลกจริงกับโลกที่เป็นไปได้ (possible world) หรือใช้แนวคิดทางภาษาศาสตร์ปริชานว่ามี mental space ที่แยกกันสองอัน คือ mental space ของโลกจริงกับ mental space ของโลกสมมติ อยากให้คุณแม่เป็นครูจัง คุณแม่ที่อ้างถึงนั้นมีตัวตนในโลกจริง แต่การเป็นครูนั้นอยู่ในโลกสมมติไม่ใช่โลกจริง

เมื่อมาดูประโยค อยากให้พรุ่งนี้เป็นเมื่อวานจัง คำว่า พรุ่งนี้ กับ เมื่อวาน เป็นคำอ้างถึงให้เป็นวันเดียวกัน ในประโยคนี้ทั้งสองส่วนจะอยู่ในโลกจริงพร้อมกันไม่ได้ จึงมีสองทางเลือก ให้พรุ่งนี้อยู่ในโลกจริง หรือให้เมื่อวานอยู่ในโลกจริง ส่วนประโยคหลัง วันนี้จะได้เป็นวันศุกร์ ประโยคนี้เป็นโลกสมมติแน่ เพราะตามหลังหรือเป็นผลจากประโยคแรกที่ต้องการสร้างโลกสมมติ และคำถามคือวันนี้(ในโลกจริง)คือวันอะไร

พรุ่งนี้ ในโลกจริง คือ เมื่อวาน ในโลกสมมติ

เพราะวันนี้ในโลกสมมติเป็นวันศุกร์ และพรุ่งนี้ในโลกจริงคือวันเดียวกับเมื่อวานในโลกสมมติซึ่งเป็นวันพฤหัส ทำให้คำตอบในการตีความแบบนี้ วันนี้(ในโลกจริง)จะเป็นวันพุธ

พรุ่งนี้ ในโลกสมมติ คือ เมื่อวาน ในโลกจริง

เพราะวันนี้ในโลกสมมติเป็นวันศุกร์ และเมื่อวานในโลกจริงเป็นวันเดียวกับพรุ่งนี้ในโลกสมมติซึ่งเป็นวันเสาร์ ทำให้วันนี้ในโลกจริงจะต้องเป็นวันอาทิตย์

เลือกตอบได้ทั้งสองแบบ?

คำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นว่าคำตอบเป็นได้ทั้งวันพุธหรือวันอาทิตย์ เพราะมาจากการจัดให้ พรุ่งนี้ อยู่ในโลกจริงหรือโลกสมมติ คำถามคือ เวลาที่เราพูดว่า อยากให้ X เป็น Y เราคิดถึง X ในโลกจริงหรือ X ในโลกสมมติ

ถ้าเราทดลองดึงข้อมูลภาษาไทยที่ใช้จริง ตามตัวอย่างข้างล่าง เราจะเห็นว่าแทบทุกกรณี เราพูดถึง X ในโลกจริง เช่น อยากให้มันเป็นคนจริงๆ อยากให้ลูกเป็นชาวนา อยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกเป็นนักมวย เป็นต้น X หรือสิ่งที่พูดถึงนั้นจะอยู่ในโลกจริง ส่วนสิ่งที่อยากให้เป็นนั้นมักอยู่ในโลกสมมติ

ดังนั้น จากข้อมูล อยากให้พรุ่งนี้เป็นเมื่อวานจัง วันนี้จะได้เป็นวันศุกร์ แม้มีได้สองคำตอบ แต่คำตอบที่มีความเป็นไปได้สูงกว่ามาจากการพูดถึงพรุ่งนี้ในโลกจริง ดังนั้น คำตอบว่าวันนี้คือวันอะไร ก็ควรเป็นวันพุธมากกว่า

Mental Space

ขอปิดท้ายด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ mental space ที่ตัดตอนมาจากหนังสือ ทฤษฎีภาษาศาสตร์ เล่ม ๓ สำหรับผู้สนใจในแนวคิดเรื่องนี้

Fauconnier (1985, 1994) เสนอแบบจำลองจินตเขต (mental space) มาอธิบายการสร้างความหมาย (meaning construction) ว่าเป็นเรื่องของการสร้างจินตเขตและการเชื่อมโยงระหว่างจินตเขตโดยอาศัยบริบทภาษา จินตเขตเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นทันทีที่มีการประมวลผลภาษา คำหรือข้อความภาษาไม่ได้บรรจุความหมายทั้งหมดแต่เป็นเหมือนคำสั่ง (instruction) ให้สร้างความหมายขึ้นมา ซึ่งแบบจำลองนี้สามารถนำมาแก้ปัญหาของอรรถศาสตร์เงื่อนไขความจริง (truth-conditional semantics) ในประโยคต่อไปนี้
a. Gina bought a sports car.
b. Giorgio believes that Gina bought a sports car.
c. Paolo believes that Gina bought a pickup truck.
d. Gina wants to buy a sports car.
e. Gina will buy a sports car.
f. If Gina buys a sports car, then she will drive to Paris
ประโยค (a) ไม่มีปัญหาในการวิเคราะห์แบบอรรถศาสตร์เงื่อนไขความจริง (truth-conditional semantics) เพราะบอกได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่ประโยคอื่น ๆ นั้นเป็นปัญหา จะเป็นจริงในโลกหรือเป็นจริงในความเชื่อของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ก็แก้ปัญหาโดยวิเคราะห์ให้เป็นเรื่องของโลกที่เป็นไปได้ (possible world) คือไม่จำเป็นต้องหมายถึงโลกจริง ๆ ที่เป็นอยู่ แต่อาจเป็นโลกซึ่งสถานการณ์แบบนั้นเป็นไปได้ เป็นความเชื่อของบุคคลได้ แต่ก็เป็นปัญหาทางอภิปรัชญาว่าโลกที่เป็นไปได้ (possible world) คืออะไร Fauconnier เสนอวิธีการใหม่ที่น่าสนใจกว่า คือให้เป็นจินตเขต (mental space) แทน โดยจินตเขตเป็นโครงสร้างปริชาน (cognitive structure) ประโยค (a) เป็นประโยคทั่วไปที่เป็นเหตุการณ์ในเขตพื้นฐาน (base space) ส่วนประโยคที่เหลือมีคำที่จัดว่าเป็นคำสร้างเขตแดน (space builder) สร้างจินตเขตใหม่ซ้อนเข้ามาซึ่งเป็นจริงเฉพาะภายในเขตแดน (space) ใหม่นั้น และมีการโยงระหว่างหน่วยภายในเขตแดน (space) ว่าเป็นหน่วยเดียวกันหรือไม่ ในประโยค (d) Gina wants to buy a sports car จึงมีสองความหมายแบบเจาะจงรถหรือไม่เจาะจงก็ได้ ดังรูป

Croft and Cruse (2004: 35)

อ้างอิง

Croft, William and D. Alan Cruse. (2004). Cognitive linguistics. Cambridge : Cambridge University Press.
Fauconnier, G. (1985). Mental spaces: Aspects of meaning construction in natural language. Cambridge University Press.
Fauconnier, G. (1994). Mental Spaces. Cambridge: Cambridge University Press.

--

--

No responses yet