เขียนภาษาไทยอย่างไรให้ได้ภาษาอังกฤษระดับ B2-C1
บทความนี้เป็นการทดลองเล็ก ๆ เพื่อตอบคำถามว่า ถ้าเราเขียนภาษาไทยได้ดีแล้ว เราจะได้ภาษาอังกฤษที่ดีด้วยไหมโดยใช้เครื่องแปลภาษา และผลพวงที่อาจจะเกิดขึ้นในแวดวงการสอนภาษาต่างประเทศจะเป็นอย่างไรบ้าง
ผู้เขียนเริ่มต้นจากการนำย่อหน้าแรกในคำนำของหนังสือที่ตัวเองเขียนมาทดลองใช้ Google Translate ณ วันที่ 19 ก.พ. 2564 และนี่คือย่อหน้าแรกที่เขียนไว้นานแล้ว
หนังสือเล่มนี้พัฒนามาจากเอกสารคำสอนที่ใช้ในรายวิชาทฤษฎีภาษาศาสตร์ (Linguistic Theories) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับในหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาษาศาสตร์ ณ ขณะนั้น ในแต่ละปีการศึกษา ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเพิ่มเติมมาโดยตลอด ผู้อ่านควรมีความรู้พื้นฐานทางภาษาศาสตร์ทั้งในเรื่องสัทวิทยา วากยสัมพันธ์ และอรรถศาสตร์มาบ้างแล้ว เนื้อหาในหนังสือไม่ได้เน้นที่การกล่าวถึงทฤษฎีภาษาศาสตร์ทฤษฎีใดโดยเฉพาะ แต่ต้องการนำเสนอประวัติความเป็นมาและพัฒนาการแนวคิดทางภาษาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจพัฒนาการของแนวคิดต่าง ๆ ที่เคยมีและมีอยู่ในทางภาษาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาและความเป็นไป เข้าใจเงื่อนไขและบริบทความสนใจทางภาษาศาสตร์ในช่วงเวลาต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดแนวคิดแบบต่าง ๆ ขึ้นมาได้ โดยจะเลือกกล่าวถึงพัฒนาการและทฤษฎีต่างๆ ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของภาษาศาสตร์และพัฒนาการของภาษาศาสตร์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นมาอย่างไร
ผลที่ได้จากการแปลแม้จะเป็นภาษาอังกฤษที่ดูดี แต่ก็ยังมีข้อความที่แปลผิดใช้คำไม่เหมาะสม ข้อความที่ใส่สีเหลืองคือส่วนที่เมื่ออ่านรอบแรกแล้วอยากแก้ไขให้ดีขึ้น
จากนั้น ผู้เขียนกลับไปดูต้นฉบับที่ใช้ ก็ต้องยอมรับว่า ภาษาไทยมีการละคำ และบางครั้งก็นิยมใช้คำเชื่อมความให้ยาวต่อเนื่อง ทำให้เกิดความซับซ้อนเกินจำเป็นได้ บางครั้งก็เขียนแบบใช้คำฟุ่มเฟือย ก็เลยลองดูตำแหน่งที่พบปัญหาการแปล แล้วปรับแก้ต้นฉบับใหม่ โดยเติมประธานหรือกรรม ณ ตำแหน่งปัญหาให้ชัด เปลี่ยนคำ เอกสารคำสอน เป็น เอกสารคำบรรยาย แก้ปีพ.ศ.เป็นเลขฝรั่ง ตัดข้อความฟุ่มเฟือยออก ตามที่เห็นนี้
และเมื่อลองแปลด้วย Google Translate ใหม่ คราวนี้ได้บทแปลที่ดีมากขึ้น มีเพียงสองแห่งที่อ่านแล้วยังขาดประธานไป
คราวนี้จึงลองแก้ไขเฉพาะสองจุดนี้ โดยเปลี่ยนคำเชื่อม ซึ่ง เป็นเริ่มประโยคใหม่ด้วยประธาน วิชานี้ และลบวรรคระหว่าง โดยเฉพาะ กับ แต่ ออก
ผลที่ได้จากการแปลคราวนี้ได้ความที่ตรงกับที่ต้องการ ไวยากรณ์ส่วนใหญ่ถูกต้องไม่มีปัญหา อาจมีลืมใส่จุด full stop ท้ายประโยคบ้าง มีการใช้คำ linguistic แทนที่จะใช้ linguistics ในประโยคสุดท้าย และให้ชื่อหลักสูตรภาษาศาสตร์เป็น Philology แทนที่จะเป็น Linguistics แต่ในภาพรวมก็ถือว่าเป็นบทแปลที่ใช้ได้
This book is based on the lectures that have been used in the Linguistic Theories since 2006. This course is a compulsory course in the Master and Doctor of Philology program. The author has constantly revised and added the contents of the book. Readers should have some background in linguistics, including phonetics, syntax and semantics. This book does not focus on any particular theoretical linguistic theory, but rather presents the history and development of linguistic concepts. The objective is to give readers a better understanding of the development of concepts that exist in linguistics. Readers will understand what the background, condition, and context of the linguistic interests of different periods are. What gives rise to such a concept? The author discusses important and well known theoretical developments. This is to give readers an overview of linguistics and how linguistic has been developed.
และเมื่อลองเอาบทแปลที่ได้นี้ไปวิเคราะห์ระดับความยากง่ายของย่อหน้านี้จากสามแหล่งก็ได้ผลว่า ข้อความนี้มีความยากระดับ B2 หรือ C1 [1] แล้วแต่วิธีการคำนวณ ความยากของการอ่านเป็นระดับเกรด 10-11 หรือระดับมหาวิทยาลัย
คำถามที่สำคัญคือการทดลองครั้งนี้บอกนัยอะไรเรา นอกจากว่าการแปลภาษาด้วยเครื่องจะเก่งมากขึ้นทุกปีแล้ว และใครๆ ก็เขียนภาษาอังกฤษให้ดีได้ถ้าเขียนภาษาไทยได้ดีโดยเฉพาะกรณีภาษางานวิชาการแบบนี้
- งานแปลภาษาต่างประเทศที่เคยต้องจ้างคนที่รู้ภาษาต่างประเทศจำนวนมากมาช่วยแปลงานทั้งหมด สามารถทำได้โดยจ้างคนที่รู้ภาษาต่างประเทศไม่กี่คนมาดูบทแปลและดูเทียบกับต้นฉบับไทย เขียนคู่มือการปรับต้นฉบับหรือเขียนต้นฉบับภาษาไทยที่เอื้อต่อการแปลภาษาต่างประเทศให้ถูกต้องเหมาะสม และให้คนที่เขียนภาษาไทยได้ดีเขียนหรือปรับแก้ต้นฉบับที่พร้อมใช้แปลคือเน้นการทำ pre-edit มากกว่า post-edit เชื่อว่าในปัจจุบัน ก็คงมีหลายหน่วยงานได้ทำเช่นนี้แล้ว และในระยะยาว เมื่อเครื่องแปลภาษาได้ดีขึ้นกว่านี้อีก คนที่คอยตรวจงานแปลก็จะลดลงได้อีก
- สิ่งที่เครื่องแปลภาษาทำได้ก็เป็นเพียงงานแปลทั่วไปทางธุรกิจ ไม่ใช่การแปลวรรณกรรมซับซ้อน ซึ่งก็คงจริง แต่ความจริงข้อนี้ก็ยังหมายความว่า งานที่เคยต้องใช้คนรู้ภาษาต่างประเทศทั่วไปไม่ได้ต้องการคนรู้ภาษาระดับลึกซึ้งจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องแปลภาษาและคนจบวิชาภาษาไทยหรือเขียนภาษาไทยได้ดี ถ้าวิธีนี้ได้ผลดีและถูกกว่าการจ้างบัณฑิตเอกภาษาต่างประเทศที่มีความรู้อยู่ในระดับเฉลี่ยกลาง ๆ นั่นคืองานของบัณฑิตเอกภาษาต่างประเทศครึ่งหนึ่งจะหายไป เหลือไว้แต่งานระดับยาก หรือไม่คนที่จบเอกภาษาต่างประเทศก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองทำประโยชน์อะไรอื่นได้มากกว่าเครื่องแปลภาษา
- เมื่อความต้องการคนจบเอกสาขาภาษาต่างประเทศลดลง จำนวนคนเรียนก็ลดลง โดยปริยาย จำนวนหลักสูตรและอาจารย์ที่สอนภาษาต่างประเทศก็ต้องลดลง แต่ภายใต้แนวโน้มที่ลดลง สังคมและผู้เรียนกลับคาดหวังมากขึ้นว่าเมื่อจบมาแล้วจะทำอะไรได้มากกว่าการรู้ภาษาต่างประเทศ การเรียนภาษาต่างประเทศให้อะไรมากกว่าการฟังพูดอ่านเขียนที่ดี และต้องสามารถทำงานภาษาได้เหนือกว่า AI หรือเครื่องแปลภาษา
- ปัญหาการสอนภาษาต่างประเทศที่มีมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้บัณฑิตที่จบมีความสามารถระดับ C1 ปัจจุบันผู้เรียนใช้เวลาเรียนมานับสิบปี ถ้าให้เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษเอง เอาไปวิเคราะห์คาดว่าก็จะแย่กว่างานที่เครื่องแปลภาษาไทยออกมาให้ ทางเลือกคืออะไร จะปรับกระบวนการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ? เพิ่มการเรียนรู้การใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยงานภาษา? จะมีวิธีการอื่นใดอีกที่จะเพิ่มความสามารถภาษาต่างประเทศของผู้เรียนให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา หรือจริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมีคนที่รู้ภาษาต่างประเทศจำนวนมากมายแบบที่เราเคยคิดกันว่าคนส่วนใหญ่ต้องพูดภาษาที่สองให้ได้ดี
- นโยบายสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักจนถูกนำมาล้อว่าต่อไปครูผู้สอนต้องพูดไทยคำอังกฤษคำ [2] จะแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้จริงหรือ ณ ปัจจุบัน แม้แต่ความสามารถในการอ่านภาษาไทยของนักเรียนไทยเองก็มีแนวโน้มแย่ลง [3] เมื่อการอ่านแย่ลง ไม่สามารถทำความเข้าใจแม้แต่ภาษาไทยได้ การเขียนให้ได้ความที่อ่านรู้เรื่องก็เป็นปัญหาตามมาด้วย การแก้ไขให้คนไทยส่วนใหญ่อ่านและเขียนภาษาไทยให้ดีก่อนควรเป็นงานเร่งด่วนก่อนหรือไม่ ส่วนคนที่มีความสามารถทางภาษาและเรียนภาษาต่างประเทศได้ดี ก็ควรผลักดันให้ทำให้ได้ดีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนส่วนใหญ่ การมีคนเก่งภาษาต่างประเทศระดับสูงที่หลากหลายน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการมีคนจำนวนมากที่รู้ภาษาต่างประเทศในระดับต่ำ
- นโยบายภาษาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะภาษาไม่ใช่เป็นเพียงการฟังพูดอ่านเขียนให้ได้ถูกตามแบบ แต่ภาษาแม่เป็นรากฐานของการแสวงหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ การเรียบเรียงและสื่อความออกมาให้คนอื่นเข้าใจ ภาษาแม่เป็นภาษาที่ง่ายสุดที่จะใช้ในการพัฒนาความสามารถเหล่านี้ การเกิดมาเป็นคนไทยรู้ภาษาไทยแต่กำเนิด ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคน ๆ นั้นจะสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ดีด้วย
เขียนมาถึงตอนนี้ ก็คิดว่า จริงๆ การอบรม “เคล็ดลับในการเขียนบทความภาษาไทยให้ได้บทความภาษาอังกฤษระดับ B2-C1 โดยใช้เครื่องแปลภาษา” หรือ How to write a B2-C1 English article in Thai (using Google Translate) ก็น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและการฝึกเขียนภาษาไทยให้กระชับ ได้ความสมบูรณ์และต่อเนื่องด้วย
ว่าแต่มีใครสนใจไหม ใครสนใจยกมือขึ้น เผื่อจะให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรอบรมวิชานี้ในอนาคต