A chat about AI and ChatGPT

Wirote Aroonmanakun
4 min readJan 15, 2023

--

written by human not ChatGPT

จอย : อ.คะ แย่แล้ว หนูไปฟังบรรยายมา เขาว่า AI จะเก่งภาษามากกว่าคนอีก แล้วหนูจะเรียนเอกภาษาไปทำไมละคะ

ครูดิเรก : ใจเย็นๆ ไหนลองเล่ามา ไปได้ยินมาว่า AI จะเก่งภาษามากกว่าคนอย่างไร

จอย : เขาว่าตอนนี้ AI สามารถเขียนบทความเองได้ แค่บอกว่าต้องการบทความประเภทไหน เกี่ยวกับเรื่องอะไร มีประเด็นสำคัญอะไร AI ก็จะเขียนออกมาได้ทันที แถมเขียนมาภาษาดี เนื้อหาดี ไม่ซ้ำหรือลอกใครมาด้วย

ครูดิเรก : ครูเองก็เคยได้ยินว่า เดี๋ยวนี้เด็กส่งงานเขียนโดยให้ AI เขียนแทนให้ เอาโจทย์ที่อ.ให้ไปป้อนให้ AI ก็เขียนตอบได้ แถมได้ A ด้วย ผู้สอนเองก็ไม่รู้เพราะโปรแกรมตรวจการลักลอกจับไม่ได้

และยังได้ยินว่า AI ยังแต่งเพลง วาดภาพ ได้ดีด้วย แค่ให้มันเห็นตัวอย่างงานมากๆ ก็ทำความเข้าใจจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วสร้างสรรงานใหม่ๆออกมาได้เลย

จอย : อ้าว แล้วหนูจะทำอย่างไรดี เรียนมาตั้งหลายปียังพูดยังเขียนได้ไม่ดีเท่า AI แล้วหนูจะแข่งกับ AI ได้อย่างไรคะ

ครูดิเรก : โอเค ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าที่เครื่องเขียนงานได้ดี หมายความว่าอะไร เหมือนที่เราเขียนงานเองไหม

จอย : หนูไม่รู้ค่ะ เป็นเพราะว่ามันอ่านงานต่างๆมาเยอะๆมากๆหรือเปล่าคะ ทำให้ถามอะไรมันก็มีข้อมูลแล้วเขียนสิ่งที่เคยอ่านออกมาได้ เหมือนมีข้อมูลมากก็สามารถเอาข้อมูลพวกนั้นมาปะติดปะต่อเป็นคำตอบได้ แบบนี้หรือเปล่าคะ

ครูดิเรก : เท่าที่รู้นะ AI เรียนรู้จากข้อมูลภาษาจำนวนมากมายจริง แต่สิ่งที่เขียนออกมาไม่ได้ลอกจากข้อความที่อ่านมาตอบโดยตรง แต่มันอ่านข้อความจำนวนมากจนสามารถเข้าใจภาษาและความรู้ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่อ่านไป ทำให้สามารถเขียนข้อความออกมาได้ดีและข้อความนั้นก็เป็นของใหม่ไม่ใช่การลอกสิ่งที่อ่านมา

ที่เป็นแบบนี้ เพราะ AI ทำความเข้าใจภาษาได้ มันมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคำหรือหน่วยต่างๆในภาษาที่อ่านเข้าไป พูดง่ายๆ คือมันจำคำกับความสัมพันธ์ของคำต่างๆได้ เราจำได้ไหมตอนที่เราเคยพูดกันถึงเรื่อง ภาษาเป็นระบบสัญญะของ Saussure

จอย : อ๋อ จำได้คร่าวๆ ค่ะ เหมือนภาษาก็เป็นสัญญะแบบหนึ่งที่คนเข้าใจร่วมกัน เลยสื่อสารกันได้ใช่ไหมคะ

ครูดิเรก : ครับ Saussure ยังอธิบายต่อถึงการเป็นระบบของสัญญะ คือคำแต่ละคำที่เราใช้เป็นเหมือนสัญญะที่กำหนดโดยสังคมนั้น เช่น คำว่า ม้า ทำให้ทุกคนนึกถึงสัตว์ชนิดเดียวกัน สามารถบอกได้ว่า สัตว์ที่เห็นคือ ม้า หรือไม่

sign หรือสัญญะนี่ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอิสระโดยตัวมันเอง แต่ผูกกับระบบของสัญญะนั้น การที่เราเข้าใจว่าสัญญะนี้คืออะไร ไม่ได้กำหนดจากคุณสมบัติของตัวมันเอง แต่มาจากการมีอยู่ของสัญญะอื่นๆในระบบด้วย พูดง่ายๆ คือเราเข้าใจสัญญะหรือการมีอยู่ของสัญญะนี้ก็มาจากความต่างของตัวมันกับสัญญะอื่นๆในระบบ

จอย : แล้วเกี่ยวกับที่ AI มันเก่งภาษาอย่างไรคะ

ครูดิเรก : ถ้าเรามองว่าภาษาเป็นระบบของสัญญะ สิ่งที่ AI เรียนเกี่ยวกับคำคือการที่มันเห็นข้อมูลภาษาจำนวนมากๆ ทำให้มันเห็นว่าคำๆหนึ่งมีระดับความสัมพันธ์กับคำอื่นๆไม่เท่ากัน นั่นคือมันมองเห็นว่าคำอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกันมากน้อยแค่ไหน หรืออีกความหมายก็คือ มันเข้าใจคำหนึ่งเพราะมันเห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของคำนั้นที่แตกต่างไปจากคำอื่นๆ

ในโครงสร้าง deep learning ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายนิวรอลจำนวนมากเชื่อมโยงกันเป็นชั้นๆจำนวนมาก ทำให้ AI สามารถแยกแยะความสัมพันธ์ต่างๆที่พบในภาษาออกมาได้เอง เหมือนกับเวลาที่เราเข้าใจภาษา เราก็สามารถมองเห็นรูปแบบการใช้หรือไวยากรณ์ที่กำกับภาษานั้นอยู่ได้ คนทั่วไปอาจอธิบายไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับภาษาคืออะไร แต่นักภาษาศาสตร์วิเคราะห์และบอกได้ว่ามันมีหลักหรือกฎทางภาษาอะไรที่ซ่อนอยู่ในระดับต่าง ๆ

AI ก็เรียนรู้ภาษาจากการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากนี้ ไม่ว่ามันจะอธิบายหลักหรือกฎที่ซ่อนอยู่ในภาษาได้หรือไม่ได้ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะ AI ก็เหมือนคนที่รู้ภาษานั้นและสามารถเขียนข้อความมาได้ถูกต้องตามหลักภาษานั้นๆ ได้ด้วยตัวเองเลย

จอย : อย่างนี้ก็เหมือนเด็กที่โตมาในท้องถิ่นไหน ก็เลยรู้ที่จะพูดภาษานั้นได้เองหรือเปล่าคะ

ครูดิเรก : จะมองเทียบแบบนั้นก็พอได้ แต่ก็ไม่เหมือนทีเดียว แม้เด็กเรียนรู้รูปแบบภาษาได้เอง แต่เด็กได้รับรู้ข้อมูลภาษาน้อยกว่า AI มาก ที่ AI เก่งภาษา ปัจจัยหลักมาจากการที่มันเห็นข้อมูลจำนวนมหาศาล มากกว่าที่เราจะอ่านได้ทั้งหมด แต่ผลสุดท้ายก็ได้ออกมาเหมือนกันคือ AI มีทักษะการใช้ภาษาได้ดี

ที่น่าสนใจคือ เวลาเราสั่งให้ AI เขียนงานแล้วบอกให้เขียนมาในสไตล์ของนักเขียนคนนั้นคนนี้ หรือให้เขียนเป็นภาษาทางการ เป็นภาษาแบบภาษากฎหมาย หรือภาษาแบบเด็กสิบขวบ อะไรแบบนี้ AI ก็เขียนออกมาได้ตามต้องการเลย แบบนี้หมายความว่าอย่างไร

จอย : หรือว่าข้อมูลที่มันอ่าน แต่ละอันมีบอกไว้ว่าคนเขียนเป็นใคร เป็นงานเขียนแบบไหน หรือเปล่าคะ

ครูดิเรก : ในทางปฏิบัติ ตัวบทหรือหนังสือที่มันอ่านทุกอันนี่จะมีข้อมูลแบบนี้บอกไว้ทุกงานหรือ ก็ไม่น่าใช่ ใช่ไหม แต่ก็อาจจะมีงานบางอันที่มันเห็นว่าใครเขียน หรือบางงานที่มีบอกว่าเป็นภาษาทางการ เป็นภาษากฎหมาย หรือเป็นภาษาเด็ก

แต่เป็นเพราะเวลามันอ่านทำความเข้าใจงานแต่ละชิ้น สิ่งที่มันเรียนรู้คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของหน่วยในภาษานั้นในมิติต่างๆ มันก็เห็นว่าการเชื่อมโยงคำในภาษาในกลุ่มข้อมูลที่อ่านมามันแยกได้เป็นหลายๆกลุ่มก้อนที่อาจทับซ้อนกันได้ด้วย และในกลุ่มก้อนนั้นมีเชื่อมโยงถึงชื่อนักเขียนหรือชื่อสไตล์ภาษาพวกนี้ด้วย

ทำให้ถึงข้อมูลทั้งหมดถึงไม่ได้มีการบอกชัดเจนว่าเป็นภาษาของใครหรือรูปแบบไหน AI ก็โยงไปหาข้อมูลนั้นได้ เวลาเราต้องการให้มันเขียนภาษาแบบไหน กลุ่มก้อนความสัมพันธ์ของหน่วยภาษาส่วนนั้นก็จะถูกเลือกใช้มากกว่า ทำให้มันเขียนข้อความที่มีลักษณะภาษาตามที่เราต้องการได้

คือถ้าคิดตาม Saussure สิ่งที่ AI สร้างความเข้าใจคือภาษาที่เป็นระบบของสัญญะ ซึ่งภายในมีทั้งรูปและความหมายในทุกระดับของภาษา และตัวระบบก็มีลักษณะเป็น poly-system คือมีหลากหลายระบบทับซ้อนกันอยู่ภายในด้วย

และภาษาพวกนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นภาษาเดียว ข้อมูลแต่ละภาษาก็แยกกลุ่มเป็นคนละระบบ พอมีข้อมูลบางส่วนที่เชื่อมโยงระหว่างภาษาเช่นพจนานุกรมสองภาษาหรือเอกสารแปล ก็ทำให้ AI มีความสามารถแปลระหว่างภาษาได้ด้วย

จอย : ถ้า AI มันเก่งภาษาและรู้หลายๆภาษาด้วย แต่หนูเรียนมาเกือบสิบปี ยังเขียนผิด เขียนไม่ได้ราบรื่นแบบมัน แถมมันยังเก่งบทกวีได้อีก เจ็บใจจริงๆ หนูถึงว่าหนูไม่รู้จะเรียนภาษาต่อไปทำไม

ครูดิเรก : อย่าเพิ่งท้อใจไป ถึงแม้ AI จะเขียนงานอะไรออกมาได้ดี เขียนเป็นเรื่องราว แต่ AI ก็ไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่มันเขียนออกมาเหมือนมนุษย์ มันเพียงแค่เขียนโต้ตอบสิ่งที่เราถามไปเท่านั้น สิ่งที่มันเขียนออกมาแม้จะสวยหรูหรือดูดี ก็เป็นการเรียบเรียงความจากการเชื่อมโยงที่มันรับรู้ว่ามีอยู่

แต่คนที่รับสารต่างหาก คือคนที่จะเห็นค่าของข้อความที่ AI สร้างออกมา คือเราจะเป็นคนดูแล้วบอกได้ว่าชอบไม่ชอบ ใช่หรือไม่ใช่ ใช้ได้หรือไม่ได้ คนที่จะใช้และให้ค่ากับสิ่งที่ AI generate มาคือพวกเราเอง

จอย : เหมือนที่เขาพูดกันว่า สิ่งที่ AI เขียนออกมาบางทีก็ผิด ไม่ใช่ความจริง เหมือนมันก็ยังเข้าใจอะไรผิดอยู่ แบบนี้หรือเปล่าคะ

ครูดิเรก : ใช่ครับ ประเด็นว่า AI ตอบอะไรที่ผิด พูดถึงอะไรที่ไม่มีอยู่จริง พวกนี้พบเห็นได้ แต่จริงๆ ตรงนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เหมือนเราอ่านหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตอนแรกเราก็มีความเข้าใจระดับหนึ่ง ตอนแรกก็อาจจะยังเข้าใจอะไรบางอย่างผิด แต่พออ่านเรื่องนั้นมากขึ้น เราก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น รู้ว่ายังเข้าใจผิดและก็แก้ไขได้ เราก็อาจมอง AI แบบเดียวกันได้ และจริงๆ ที่คนกล่าวถึง AI กันมาก ไม่ใช่ว่ามันตอบผิดๆถูกๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว มันตอบได้ดี ตอบเหมือนคนมีความรู้เรื่องนั้นๆดี คือเรารู้สึกว่ามันเก่ง ทำอะไรก็ได้ดีในทันที

ที่มันตอบผิดบ้างจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ จริงๆ ความสำคัญอยู่ที่เรา เมื่ออ่านแล้วรับรู้ได้ว่าตรงไหนที่ผิด ไม่ตรงกับความจริง เพราะมัน generate ข้อความออกมาได้อย่างง่ายดาย คนที่สั่งหรือคุยกับ AI นั่นแหละที่ต้องดูว่ามันทำออกมาถูกไหม

จอย : อ้าว แบบนี้ AI มันก็ไม่ได้เก่งจริงๆ ไม่ได้ตอบอะไรถูกทุกครั้ง แล้วเราจะใช้มันทำไมคะ

ครูดิเรก : เพราะ AI ตอนนี้อย่าง GPT3 เรียนรู้จากข้อมูลภาษาที่ถูกจำกัดช่วงเวลา มันจึงไม่ได้รับรู้ความต่างของโลกจริงหรือโลกในจินตนาการ เวลามันเขียนตอบบางครั้งก็อ้างถึงสิ่งที่อาจจะยังไม่มีอยู่ก็ได้ แต่ในอนาคตที่ AI รับข้อมูลรอบด้านด้วยการเห็นหรือได้ยินด้วย สามารถปรับเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจได้ตลอดจากข้อมูลใหม่ๆที่รับมา มันจะทำอะไรได้มากกว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ไหม

อีกอย่างคือมันทำงานได้เร็วกว่าเราทำเองไง คิดเหมือนว่า AI เป็นผู้ช่วยงาน งานอะไรที่เราเคยต้องทำเองใช้เวลาหลายๆชม. พอให้มันช่วยทำให้ นาทีเดียวก็เสร็จแล้ว เพียงแต่เราต้องรู้ว่าที่มันทำให้หรือตอบมานั้นใช้ได้ไหม มีตรงไหนมีปัญหาไหม เราถึงยังต้องเป็นคนดูประเมินสิ่งที่มันเขียนออกมาอีกทีไง

จอย : แบบนี้เราก็เหมือนต้องรู้มากกว่ามันหรือเปล่าคะ ถึงจะบอกได้ว่าที่มันเขียนมานั้นถูกหรือไม่ถูก

ครูดิเรก : ใช่ครับ จะทำแบบนั้นได้ เราก็ต้องรู้มากกว่ามัน หรืออ่านแล้วรู้สึกมีอะไรแปลกๆในนั้น

จอย : อ้าว แล้วถ้าอย่างพวกหนูที่รู้บ้างไม่รู้บ้าง หนูจะบอกได้อย่างไรว่า มันตอบหรือเขียนตรงไหนผิด

ครูดิเรก : นั่นแหละ คือเรื่องที่ท้าทายต่อไป ณ ตอนนี้ AI เป็นประโยชน์มากเพราะคนที่รู้ก็สามารถใช้มันช่วยงานที่ทำอยู่ได้เร็วขึ้น เหมือนได้ผู้ช่วยที่ทำงานได้รวดเร็ว ช่วยหาข้อมูล เขียนสรุปเรื่อง ช่วยให้ความเห็นกับเราได้ทันที ซึ่งงานส่วนนี้ จริงๆเป็นงานสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ค่อยๆทำแบบเป็นผู้ช่วยงานและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนเก่งกล้าขึ้นในที่สุด ก็น่าเป็นห่วงว่าถ้า AI ถูกนำมาใช้แทนคนทำงานแบบนี้แล้ว เด็กที่เพิ่งจบจะหางานได้ยากขึ้น เมื่อขาดโอกาสเรียนรู้ทำงานก็ไม่ได้สั่งสมประสบการณ์จนมีความรู้มากพอได้

จอย : แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรคะ อย่างนี้พวกหนูไม่ตกงานกันยาวเลยหรือคะ

ครูดิเรก : จริงๆก็เป็นเรื่องน่าวิตกนะ เพราะถ้าดูว่า AI ทำอะไรได้บ้างในตอนนี้ คนที่ทำงานหลายๆงานอาจต้องหนาวๆร้อนๆล่ะ อย่างเราสั่งให้มันออกจดหมาย ตอบบันทึกถึงใคร บอกอะไรไป มันก็ร่างให้เสร็จทีเดียว

อีกไม่นาน โปรแกรม Word แทนที่จะให้เรานั่งพิมพ์ทุกอย่าง อาจแค่สั่งว่าต้องการทำบันทึกอะไรถึงใคร มันก็ร่างให้ได้ทันที หรือให้ทำสรุปรายการรายรับรายจ่ายแต่ละเดือนแบบไหน แค่บอกไปก็ได้รายงานการเงินออกมา

หรืออย่างงานปรึกษาข้อกฎหมายทั่วไปที่เมื่อก่อนต้องถามจากทนาย ก็อาจมีโปรแกรมทนาย AI ช่วยปรึกษาในราคาไม่แพงก็ได้นะ หรืองานวาดรูปทำดนตรีประกอบงานเล็กๆ คนทั่วไปก็ใช้ AI ทำเองแทนที่จะจ้างคนทำก็ได้ แบบนี้ ก็ทำให้คนที่เคยรับงานพื้นฐานแบบนี้จะมีงานน้อยลง ถ้าคนเหล่านี้จะอยู่ต่อให้ได้ก็ต้องพยายามถีบตัวเองให้ทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

จอย : ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกสิ้นหวังนะคะ

ครูดิเรก : ตอนนี้ก็ต้องช่วยกันคิด คืออย่างน้อยเรารู้ว่าจะมีปัญหาแบบนี้แล้ว ก็ต้องคิดทางแก้ไข อย่างการเรียนการสอนจะมาทำแบบเดิมมันก็คงไม่ได้แล้วล่ะ เพราะระบบการศึกษาที่ทำกันมามันอาจตอบความต้องการในอดีตได้ แต่ในอนาคตมันใช้ไม่ได้แล้ว

ในอดีต เราอาจเน้นเรื่องความรู้ พยายามเรียนพยายามสอนให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มากพอจะไปทำงาน ไปสานต่อพัฒนาศาสตร์ให้ต่อเนื่องได้ แต่ตอนนี้ เราเห็นแล้วว่าการเข้าถึงความรู้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนนักเรียนต้องมาฟังบรรยาย อ่านหนังสือ เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่สนใจ แต่ตอนนี้เหมือนเรามี AI เป็นผู้ช่วยเรา สามารถอ่านแล้วมาสรุปให้เราฟังได้ทันทีเลย

การเข้าถึงความรู้จึงง่ายแล้ว แต่ที่ยังต้องมีคือการรู้เท่าทัน รู้ว่าสิ่งที่เขียนสรุปหรือเสนอมาใช้ได้ไหม มีช่องโหว่หรือจะปรับเปลี่ยนอะไรแล้วจะดีกว่านั้น

จอย : แล้วจะทำอย่างไรคะ ถึงจะรู้เท่าทันได้

ครูดิเรก : สำหรับครูนะ ครูมองว่าถ้า AI ก้าวมาถึงขั้นนี้แล้ว จะให้รู้เท่าทัน AI ก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้และเข้าใจความสามารถของมัน คือคงต้องเอามาเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไป นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำงานต่างๆ จะได้เข้าใจวิธีการใช้ เข้าใจขีดความสามารถและขีดจำกัดของมัน

จอย : แบบนี้เราก็จะไม่ได้เรียนหนังสือกันแบบเดิมแล้วหรือคะ

ครูดิเรก : ก็เป็นไปได้ครับ อนาคตอย่างไรก็คงต้องเปลี่ยนไป เดิมครูอาจทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่จะช่วยถ่ายทอดความรู้ โดยมีหนังสือ บทเรียน การบ้าน ข้อสอบ เป็นเครื่องมือให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปทีละขั้นตอนตามแผนหลักสูตร

แต่ตอนนี้การเข้าถึงความรู้ นักเรียนใช้ AI เป็นเครื่องมือได้ง่ายขึ้น ครูก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้แล้ว แต่ต้องช่วยนักเรียนให้เรียนรู้กระบวนการในการเข้าถึง เรียบเรียงและใช้ความรู้ที่ได้มาทำงานที่ต้องการอีกที ครูเองก็ต้องปรับตัวด้วยนะ ไม่งั้นก็จะทำแบบนี้ไม่ได้ อย่างน้อยครูต้องรู้และเข้าใจวิธีการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ไปก่อนด้วย

จอย : แล้วที่มีคนว่า อีกหน่อยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ครูสอนแล้ว เพราะ AI รู้มากกว่า จะเป็นไปได้ไหมคะ

ครูดิเรก : ก็อาจเป็นไปได้นะ อย่างน้อยครูที่ไม่ปรับตัวอะไรเลยจะสอนแบบเดิมๆ คงจะอยู่ยากขึ้น ส่วนครูที่พยายามปรับตัวเรียนรู้การใช้ AI และมาเป็นคนแนะนำสอนนักเรียนให้ใช้ได้อีกที ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีหน้าที่ในระบบการศึกษาได้

เอางี้ ถ้าเราพูดถึงระบบการศึกษา ระบบการศึกษามีไว้ทำอะไร เราเอาไว้สร้างคนรุ่นใหม่ๆให้มีความรู้มากพอไปทำงานต่างๆ ไปต่อยอดพัฒนาความรู้ต่างๆใช่ไหม ผู้เรียน มหาวิทยาลัย หลักสูตร รายวิชา หรือครู เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่ตามเป้านี้ ถ้ามีระบบอื่นมาแทนที่และทำให้ได้ผลแบบเดียวกัน การศึกษาแบบเดิมก็สามารถถูก disrupt ได้

หรือในระบบการศึกษา ก็อาจมีการปรับองค์ประกอบภายใน อะไรที่ไม่มีหน้าที่แล้วก็เปลี่ยนใหม่ได้ เช่น ถ้ามองง่ายๆว่า AI รู้มากกว่าครู ก็ให้ AI สอนแทนเลยไหม จะประหยัดกว่าไหมเพราะ AI เดียวทำสำเนาตัวเองได้ไม่จำกัด สามารถดูแลสอนนักเรียนแบบรายบุคคลตามพัฒนาการแต่ละคนได้ทั้งโรงเรียนหรือทั้งประเทศก็ได้

จอย : แต่เรียนกับ AI จะเหมือนกับเรียนกับครูที่เป็นมนุษย์หรือคะ AI อาจจะไม่เห็นใจ ไม่ใจดีกับนักเรียนก็ได้

ครูดิเรก : นั่นก็ขึ้นกับ ระบบการศึกษาว่าต้องการอะไรแบบไหน เขาอาจต้องการ AI ที่เข้มงวด ไม่ใจอ่อน ดูแลทุกคนเท่ากัน ใครตั้งใจเรียน ทำได้ดีก็ไปได้ไกลด้วยตัวเอง ไม่มีประเภทโกงข้อสอบมาแล้วได้ดิบได้ดี แบบนี้ก็อาจจะดีนะ

แต่ถ้าดูกันตอนนี้ ที่ AI ทำได้ดีคือเป็นผู้รู้ที่คอยแนะนำหรือสอนเรื่องต่างๆ ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องการสอนเนื้อหา ในอนาคต AI ก็น่าจะมาทำหน้าที่เป็นครูได้ไม่ยาก

ต่อไปครู AI อาจออกแบบมาให้นักเรียนเลือกได้ว่าชอบครูแบบไหน พอเลือกร่างอวตารครูแล้ว แล้วครู AI จะถูกกำหนดให้ควบคุมเกมการเรียนรู้ในแต่ละศาสตร์ นักเรียนจะต้องผ่านด่านความรู้ต่างๆ ที่ครู AI คอยดูอยู่ ให้ทำงานแก้ปัญหาที่ให้ ดูและกระตุ้นให้นักเรียนเรียนจนจบเกมอะไรแบบนี้ก็ได้นะ ซึ่งจะเรียนแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่มก็ได้ การเรียนก็เหมือนการเล่นเกมการศึกษาในจักรวาลนฤมิตร ก็เป็นไปได้นะ

แต่ที่ครู AI ยังทำไม่ได้คือการสอนนักเรียนเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม อะไรที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน พวกนี้น่าจะยังต้องใช้ครูที่เป็นคนจริงๆอยู่นะ แต่ถึงเป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าต่อไปเรายังต้องการครูจำนวนมากๆแบบที่ใช้อยู่ตอนนี้ไหม

อีกอย่างที่ต้องคิดกันคือ ทักษะอะไรที่จำเป็นและควรสอนนักเรียนให้ได้ พวกนี้เป็นอะไรที่เปลี่ยนได้ตลอด เรามักได้ยินคนพูดถึงทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ก็ฟังดูดีนะ แต่ทักษะอะไรที่จะคงใช้ได้เป็นศตวรรษ จริงๆอาจต้องมองทักษะอะไรที่จำเป็นในห้าปีข้างหน้าหรือเปล่า จะได้มาคอยทบทวนกันว่า อะไรสำคัญกว่า ต้องเรียนรู้ก่อนหลัง

จอย : แล้วภาษาต่างประเทศที่หนูเลยล่ะคะ อุตส่าห์เลือกเรียนเพราะใครๆก็ว่าเป็นทักษะแห่งอนาคต

ครูดิเรก : ถ้าดูตอนนี้ เราเห็นว่า AI มี language model ที่ทำให้มันมีความสามารถทางภาษาได้ดีเลย หรืออาจดีกว่าเราหลายคนถ้าเป็นภาษาต่างประเทศ งานหลายๆงานที่เป็นงานพื้นฐานทั่วไป AI ก็มาทำแทนได้ ก็เหมือนอีกหลายๆงานที่เราต้องถีบตัวให้ทำอะไรที่ยากซับซ้อนมากขึ้นให้ได้

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับคนที่อยากฝึกภาษาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ใช้ประโยชน์จาก AI ได้เหมือนกัน เราต้องพยายามเรียนรู้มากกว่าเมื่อก่อน เพราะตอนนี้เราไม่ได้แข่งกันเองในกลุ่มคนที่เรียนจบในสาขาแล้ว เราต้องแข่งกับ AI ด้วย

จอย : งั้นภาษาต่างประเทศก็ยังจำเป็นใช่ไหมคะ

ครูดิเรก : สำหรับคนที่ทำงานด้านที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศโดยตรง ยังไงก็จำเป็นครับ เพราะเราคงอยากสื่อสารภาษานั้นด้วยตัวเอง เข้าใจเอง มากกว่าจะใช้เครื่องช่วยแปลหรือเป็นล่ามให้ ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานหรือใช้ภาษาต่างประเทศโดยตรงก็อาจไม่ต้องเรียนอะไรลึกซึ้ง แค่เข้าใจระดับหนึ่ง ที่เหลือให้เครื่องช่วยทำได้

จริงๆ ครูกลับคิดว่าทักษะภาษาไทยสำคัญมากกว่า ที่สำคัญสุดคือความสามารถในการอ่านภาษาไทย

จอย : ก็เป็นเพราะครูสอนภาษาไทยใช่ไหมคะ เลยเชียร์ตัวเอง

ครูดิเรก : ไม่ใช่ครับ จำได้ไหมที่ครูเคยว่า เราต้องรู้เท่าทัน AI ต้องรู้ว่าสิ่งที่ AI เขียนมานั้นดีหรือไม่ดีตรงไหน พวกนี้ต้องอาศัยความสามารถในการอ่าน และทักษะการอ่านที่เราเริ่มฝึกได้แต่เล็กคือการอ่านในภาษาแม่ตัวเอง เพราะเราทุกคนรู้ภาษาไทยแต่เล็กแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องศัพท์หรือไวยากรณ์ที่ต้องเรียนรู้ใหม่แบบในภาษาต่างประเทศ

สิ่งที่ต้องเรียนคือวิธีการอ่านเพื่อให้เข้าใจความในนั้น สามารถจับประเด็นสำคัญ ประเด็นรองในนั้นได้ ถ้ามีทักษะพื้นฐานนี้แล้ว ก็จะคิดต่อถึงความสมเหตุสมผล ความน่าเชื่อถือในข้อความเหล่านั้นต่อได้ เพราะภาษาผูกพันกับความคิด ความสามารถในการใช้ภาษาแม่จึงเกี่ยวกับพัฒนาการความคิดโดยตรงด้วย พอภาษาไทยแข็งแรงแล้ว การเรียนรู้ภาษาอื่นๆก็ตามมาได้

จอย : ดูเหมือนอนาคตข้างหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากเลยนะคะ แล้วพวกหนูจะใช้ชีวิตกันอย่างไร

ครูดิเรก : การเปลี่ยนแปลงยังไงก็คงมาครับ จะเร็วแค่ไหนเท่านั้น พวกหนูก็คงต้องเตรียมพร้อม รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆให้ได้เร็ว พวกที่จะลำบากอาจเป็นคนแก่อย่างพวกครูก็ได้ จะปรับตัวทำงานกันได้ทันไหม ยังสงสัยอยู่

จอย : แล้วในอนาคต จะเป็นเหมือนในหนังที่ AI มาครองโลกแทนหรือเปล่าคะ

ครูดิเรก : นั่นมันในหนังครับ คงไม่ถึงกับว่า AI มี conscious ขึ้นมาแล้วก็ปลดแอกไม่ยอมรับใช้มนุษย์แบบในหนัง

ที่เขากลัวกัน คือ AI อาจให้น้ำหนักความสนใจบางอย่างมากกว่าชีวิตมนุษย์ ซึ่งอาจมาจากการที่เราไปกำหนดเป้าหมายบางอย่างให้มัน หรือ AI เกิดตั้งเป้าหมายของมันเอง ทีนี้ในการคิดของ AI เป็นเรื่องการ weight หรือให้น้ำหนักกับตัวแปรต่างๆ เกิดเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ AI ต้องการจะทำ แต่บังเอิญสิ่งที่ทำเป็นอันตรายกับมนุษย์ มันก็อาจไม่สนใจความเป็นตายของมนุษย์อะไรแบบนี้ เหมือนในหนังสือ 2001: A Space Odyssey

จอย : 2001 space อะไรนะคะ?

ครูดิเรก : เหมือนอย่างหนัง M3gan ที่หุ่น AI ถูกสั่งให้ดูแลเด็กคนนึงไม่ให้ใครทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ และหุ่น AI ก็ทำทุกวิธีทางเพื่อเป้าหมายนั้น

จอย : อ่อ หนูเห็นภาพแล้วค่ะ

ครูดิเรก : อีกสิ่งที่ควรวิตกคือ AI จะเก่งมากจนเราเอามาใช้ช่วยตัดสินใจทุกๆเรื่องไป กลายเป็นเราต้องอยู่ในโลกที่ AI เป็นคนกำหนด เวลาใครจะทำอะไรก็ต้องถาม AI และทำตามคำแนะนำ เพราะมันตัดสินใจดีกว่าถูกต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า

จอย : จริงๆก็ฟังดูดีไม่ใช่หรือคะ ก็ AI ตัดสินใจดีกว่า เราก็ควรทำแบบนั้น

ครูดิเรก : ก็ใช่นะ แต่ลองคิดดูสิ จากในอดีตที่ผ่านมาที่เรามีความภูมิใจว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องที่มนุษย์เรามีอิสระที่จะเลือกทำหรือไม่ทำ เราตัดสินใจเอง ถึงแม้จะบอกว่า AI แค่แนะทางเลือกให้ เราจะไม่เลือกตามก็ได้ ทางเลือกยังคงเป็นของเรา แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ พอเลือกไม่ทำตามคำแนะนำแล้ว ก็จะเริ่มเห็นผลว่ามักเป็นทางเลือกที่ผิด พอเป็นแบบนี้เรื่อยๆ คนก็จะรับเอาคำแนะนำของ AI มาใช้เสมอ เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมที่ AI คำนวณให้ optimal ที่สุด กลายเป็นโลกที่ AI เป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรม ตัดสินใจ คนเราก็เป็นหน่วยหนึ่งที่ใช้ชีวิตไปตามระบบที่ AI กำกับดูแล ก็อาจดูมีความสุข แต่สุขแบบเศร้าๆไงก็ไม่รู้

หรืออีกแบบที่คนวิตก เนื่องจาก AI มีบทบาทสำคัญมาก จะมีคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงและกำหนดการใช้ประโยชน์จาก AI เกิดเป็นชนชั้นปกครองใหม่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีอีกที

แต่อะไรจะเกิดก็คงเกิด เราก็คงทำได้แค่มีสติ และพยายามรู้เท่าทันให้มากที่สุดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง และจะปรับตัวอยู่อย่างไร

--

--

No responses yet