A day with ChatGPT : วิชาการเขียน
คำเตือน : บทความนี้เขียนเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสามารถ ณ ปัจจุบันของ ChatGPT ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนวิชาการเขียน. ไม่ได้ต้องการชี้นำให้ใครทำตาม แต่ต้องการให้ครูผู้สอนตระหนักถึงความเป็นไปได้ของการใช้ ChatGPT ในงานเขียนเรียงความ
ฉาก 1 : โลกของกิตติ
กิตติเลือกหัวข้อ “Cruelty to Animals” มาเขียนเรียงความภาษาอังกฤษส่ง. นี่ก็ใกล้เวลาจะต้องส่งแล้ว ยังขี้เกียจอยู่เลย. กิตติได้ยินคนพูดถึง ChatGPT ว่าสามารถช่วยตอบช่วยเขียนอะไรก็ได้. กิตติจึงลองสมัครสมาชิกเข้าไปใช้ดู.
ว้าว ง่ายจริงๆ ไม่ถึงนาทีก็ได้งานส่งแล้ว. ถึงกิตติจะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องทั้งหมด แต่ก็รู้สึกว่างานเขียนนี้ดีไป. ครูต้องรู้แน่ว่านักเรียนแบบเราไม่ได้เขียนเองแน่. ครูเขารู้ว่าเดี๋ยวนี้มี AI ช่วยเขียนงานส่งให้ได้ ครูยังได้ขู่ว่าถ้าเขาสงสัยว่าใครไม่ได้เขียนงานเองแต่ใช้ AI เขียนมาส่ง จะให้มานั่งเขียนสดต่อหน้าด้วย.
กิตติรู้สึกว่าภาษาที่เขียนมามันดูซับซ้อนไป จำได้ว่าครูเคยพูดถึงระดับภาษา CEFR. เลยสงสัยว่างานนี้มันอยู่ในระดับไหน ก็เลย copy ไปตรวจที่เว็บหนึ่งซึ่งวิเคราะห์งานได้ว่าเป็นภาษาระดับไหน
ใช่เลย โปรแกรมบอกว่าอยู่ต้นๆ C1 แบบนี้ดีเกินเราเขียนเองแน่. ไหนลองให้ GPT เขียนแบบภาษาอังกฤษระดับ A2 ดูสิว่าจะเป็นอย่างไร
ภาษาดูอ่านง่ายขึ้นนะ แต่จะใช่ระดับ A2 จริงไหม. พอกิตติเอาไปเช็คดูในเว็บ ก็ได้ว่าเป็นระดับ B2 ค่อนไปทางสูง. แบบนี้ก็ยังไม่ดีมั๊ง เดี๋ยวครูไม่เชื่อ
งั้นให้เขียนใหม่เป็นระดับ A1 เลยแล้วกัน. กิตตินั่งดูผลที่ได้ออกมา. ก็ดูอ่านง่ายลงไปอีก แต่เอาไปเช็คก็ยังเป็นระดับ B1 สูงกว่าที่ระบุอยู่.
งั้นลองใหม่ ให้เขียนเรียงความเหมือนเด็กหกขวบดูดีกว่า ChatGPT ก็เขียนมาให้แบบนี้.
โอเค กิตติรู้แล้วว่าสามารถสั่งให้ GPT เขียนงานด้วยภาษาง่าย ๆ หรือซับซ้อนก็ได้. แต่กิตติก็ยังกังวล. แม้ภาษาจะง่ายลง. แต่มันเขียนมาไม่ผิดไวยากรณ์เลย. เดี๋ยวครูจะสงสัยได้. ไหนลองสั่งให้เอาอันเดิมที่สั่งให้เขียนภาษาระดับ A1 มาแก้ไขให้มี subject-verb agreement error ดูดีกว่า.
โอเค ได้มาแล้ว ว่าแต่ตรงไหนนะที่มันมี error. เจองานยากสำหรับเราอีกแล้ว. กิตติเลยใช้โปรแกรมตรวจไวยากรณ์หาดู. เห็นแล้ว. ตรงที่มีขีดเส้นแดง น่าจะใช่นะ.
แต่ก็ยังดูว่ามีที่ผิดน้อยไปหน่อย. งั้นลองขอแบบมี run-on sentence ด้วยดีกว่า
ตอนนี้ขีดแดง ๆ เยอะขึ้นแล้ว. แต่พอกิตติดูดี ๆ ก็เห็นว่าส่วนใหญ่ ChatGPT ใช้วิธีลืมใส่ full stop. แบบนี้ไม่น่าจะได้. มันดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่
เอาใหม่ ลองเปลี่ยนมาเขียนโดยให้มีการใช้คำ article a, the แบบผิดๆ ร่วมกับ error ที่มาจาก subject-verb agreement แทนแล้วกัน
ก็ดูดีขึ้น มีการเขียนผิดหลายแบบ ดูเหมือนเป็นงานที่นักเรียนเขียนเองมากขึ้น. แต่ถ้าจะให้ดี ให้เติมคำสะกดผิดเพิ่มไปด้วยดีกว่า
กิตติรู้สึกพอใจกับผลที่ได้แล้ว คราวนี้น่าจะส่งได้ ครูคงไม่คิดว่าเราใช้ AI writing tool เขียนมาส่งแน่ เพราะภาษาตอนนี้ไม่ซับซ้อน มีเขียนผิดหลายอย่างอยู่ประปราย. กิตติรู้สึกอิ่มใจยิ่งนัก. ถ้าทำแบบนี้หลอกครูได้ ต่อไปก็สบายแล้ว. นั่งทำแป๊บเดียวไม่กี่นาทีก็เสร็จแล้ว. ว่าแล้วกิตติก็ไปดูซีรี่ย์ต่อด้วยความเบิกบานใจ.
ฉาก 2 : โลกของไมเคิล
ครูไมเคิลได้รับงานจากกิตติมา. ก็เหมือนงานอื่นๆ ที่ผ่านมา นักเรียนยังไงก็เขียนผิด ต้องให้นั่งแก้ให้ตลอด. ครูไมเคิลก็รู้ว่าตอนนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง ChatGPT. ก็เลยอยากรู้ว่า ChatGPT จะช่วยแก้ภาษาในงานนักเรียนให้ได้ไหมนะ. หลังจาก copy งานที่กิตติส่งมาว่าเป็น text ที่ต้องการใช้ แล้วก็ถามโปรแกรมว่าจะช่วยแก้งานนี้ให้ได้ไหม.
เครื่องตอบด้วยความมั่นใจทีเดียวว่าทำได้ และก็เขียนใหม่ออกมาตามที่เห็น. งั้น ลองดูอีกสักงานแล้วกัน. ครูไมเคิลเอางานเขียนอีกชิ้นของนักเรียนมาให้ดู แล้วสั่งให้หาว่ามี error ที่ไหนบ้าง
โปรแกรมก็สามารถแจกแจงรายการที่เขียนผิด และที่นักเรียนควรจะเขียนมาให้ดู. แบบนี้โปรแกรมก็เหมือนผู้ช่วยสอนได้เลยนะ. ช่วยตรวจงานเบื้องต้นให้เราได้ด้วย. แล้วเราค่อยมาดูว่าที่แจกแจงมานั้นใช้ได้ไหม. แบบนี้เราก็ตรวจงานนักเรียนได้ง่ายขึ้นสิ. ครูไมเคิลเริ่มรู้สึกดีกับโปรแกรมขึ้นบ้างว่าอย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระการตรวจงานได้. เอ๊ะ แล้วถ้าให้โปรแกรมช่วยให้คะแนนเลย ก็น่าจะเป็นอะไรที่ objective ดีนะ. ไหนลองถามดูดีกว่า
ตอนแรกโปรแกรมไม่ยอมตอบ แต่พอเปลี่ยนคำถามใหม่ ก็หลุดมาว่าน่าจะได้สัก 60–70 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100. เพราะพบว่ามีข้อผิดอะไรอยู่บ้าง
ครูไมเคิลลองเอางานอีกชิ้นมาถาม ChatGPT ดู ซึ่งโปรแกรมก็วิเคราะห์หาที่ผิดได้อีก
ครูไมเคิลนึกขึ้นได้ เอ ถ้างั้นให้โปรแกรมแก้ลงใน word และทำ track change ให้เห็นจะได้ส่งงานคืนนักเรียนได้ทันทีเลย ไม่ต้องมานั่งพิมพ์แก้ให้เองทีหลัง. แต่เสียดายที่ ChatGPT บอกว่ายังทำแบบนี้ไม่ได้ ที่ทำได้ คือ เขียนแก้ใหม่ให้ดูว่าควรเป็นแบบไหน. ก็ยังดี ครูไมเคิลคิด เดี๋ยวเราค่อยเอาไปใช้คำสั่ง compare เองใน Word ก็ได้. หลังจากลองเล่น ChatGPT ดูแล้ว ครูไมเคิลก็เริ่มเห็นว่าจะใช้ AI ช่วยแบ่งเบางานตัวเองอย่างไร
AI : disruptive technology ในการศึกษา
ChatGPT ก็เป็น disruptive technology หนึ่ง เป็นการมาของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยดำเนินมา. ในงานวิชาการเขียนนี้. หากนักเรียนสามารถใช้ AI ช่วยเขียนงานส่งโดยไม่ถูกจับได้ หากครูสามารถใช้ AI ช่วยตรวจงานให้เร็วขึ้นได้. ก็ดูเหมือนทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์และพอใจกับการใช้ AI นี้. แต่คำถามคือ ในการทำเช่นนี้ นักเรียนได้พัฒนาความสามารถในการเขียนขึ้นหรือไม่. จุดมุ่งหมายของการสอนเขียนเรียงความคืออะไร คงไม่ใช่เพียงแค่ให้นักเรียนมีงานส่ง ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ ครูได้ตรวจงานส่งคืน. แน่นอนว่าถ้านักเรียนคนไหนทำแบบกิตติ เขาก็จะไม่ได้พัฒนาความสามารถในการเขียนได้. อาจารย์หลายคนจึงกังวลมาก บ้างก็เรียกร้องว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่มหาวิทยาลัยต้องแจ้งให้ครูทุกคนรู้ถึงศักยภาพของ generative AI. และให้วางกฎเกณฑ์การเรียนที่รัดกุมและครอบคลุมการใช้ AI นี้. ด้วยหวังว่าจะมีวิธีใดที่ AI จะไม่มา disrupt วิถีการสอนแบบที่เคยทำมา.
เราต้องย้ำเตือนให้นักเรียนเข้าใจเห็นคุณค่าของการเขียนด้วยตัวเองให้ได้. แต่หากจะมีใครที่เลือกใช้ AI ทำงานส่งและจับไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องปล่อยไป. อย่างน้อย น่าจะมีนักเรียนที่รักดีทำงานแบบเดิมที่เราต้องการอยู่. หากเป็นเช่นนี้ เราก็คงได้แต่หวังว่า นักเรียนดีในอุดมคติยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก. นักเรียนเหล่านี้จะไม่หวั่นไหวเวลาส่งงานมาแล้วได้คะแนนไม่ดี แม้ว่าจะมีเพื่อนที่เลือกใช้ AI ทำงานส่งแล้วได้คะแนนดีให้เห็น. นักเรียนเหล่านี้ยังภูมิใจที่ได้คะแนนตามจริงตามความสามารถตัวเอง ภูมิใจที่ได้เรียนรู้และทำงานด้วยตนเอง. คำถามคือเราอยู่ในโลกที่นักเรียนส่วนใหญคิดแบบนี้จริงไหม?
หรือเราควรยอมรับว่าเทคโนโลยี generative AI เข้ามาแล้วและได้เปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยเป็นมาแล้ว เราคงต้องคิดจริงจังว่าจะปรับเปลี่ยนวิถีการสอนอย่างไร. จะทำอย่างไรจึงจะใช้ความสามารถของ AI ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด และไม่ควรเอาแต่ตั้งแง่ปรามาส AI ว่ายังทำนั่นทำนี่ไม่ได้ดีเท่ามนุษย์ หรือดูแคลนว่า AI ก็ไม่ต่างจากเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ที่เคยสร้างความตกใจกังวลว่าจะมา disrupt การศึกษา แล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น. เพราะ AI ที่เราเห็นนี้ จริงๆ เป็นเหมือนเด็กเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน เป็นเด็กที่ไม่เคยไปไหนนอกจากอ่านหนังสือในห้องสมุดทั้งหมด เป็นเด็กที่ไม่มีใครสอน แต่เรียนรู้ทุกอย่างจากตัวเขียนและหนังสือที่ได้อ่านจำนวนมหาศาล. สร้างโลกตามที่ตัวเองเข้าใจจากสิ่งที่อ่านและเขียนตอบทุกอย่างตามความรู้ความเข้าใจที่ตัวเองสร้างขึ้น. ณ ตอนนี้ เด็กคนนี้สามารถ copy ตัวเองได้หลายล้าน copy ไปนั่งเป็นเพื่อนช่วยนักเรียนแต่ละคน ไปนั่งเป็นผู้ช่วยครูทั้งหลาย. ณ วันนี้ มีศักยภาพเท่าที่เห็นนี้ แม้จะมีบางเรื่องที่ยังไม่เข้าใจตอบไม่ถูก. แต่เด็กคนนี้ยังพัฒนาและเติบโตขึ้นอีกได้มาก. เราจึงควรนึกถึงวันที่ AI เติบใหญ่พร้อมศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น และนึกหาหนทางที่จะอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จาก AI ในการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด