A day with ChatGPT
ข่าวใหญ่ ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้น ChatGPT. โปรแกรม chatbot ที่เปิดตัวโดย OpenAI ใช้เทคโนโลยีของ GPT3.5 มาปรับแต่งให้ทำงานแบบ chatbot [1]. แต่ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่า chatbot ทั้งหลาย ChatGPT จึงเป็นที่โจษจันกันอื้ออึง มีผู้สมัครใช้งานถึง 1 ล้านคนภายในห้าวัน เร็วกว่าการใช้งานบริการอื่น ๆ ที่ผ่านมา
มีอะไรน่าสนใจใน ChatGPT
รายละเอียดในทางเทคนิคมีกล่าวไว้ในบล็อกของ OpenAI เอง. แม้จะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง การอ้างถึงว่าเป็นพี่น้องกับ InstructGPT ก็มีผู้คาดเดาว่าภายใน ChatGPT น่าจะพัฒนาขึ้นมาอย่างไร [2]. แต่ในบทความนี้ เราจะมอง ChatGPT จากมุมผู้ใช้ว่ามันคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และจะมีผลกระทบกับเราโดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาอย่างไร
ChatGPT ช่วยเขียน essay
ความสามารถในการเขียนเรียงความเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาก. เพราะการบ้านแต่เดิมที่เราเคยสั่งให้นักเรียนไปเขียนเรียงความแสดงความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นงานที่ใช้กันมานานเพื่อประเมินความสามารถในการใช้ภาษาโดยเฉพาะในภาษาต่างประเทศ เป็นการฝึกการเรียบเรียงความ ลำดับหัวข้อเพื่อนำเสนอความคิดเห็น. ChatGPT เป็นข่าวในหน้าเว็บเกี่ยวกับความสามารถด้านนี้ และกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับครูผู้สอนที่เคยสั่งงานให้นักเรียนเขียนเรียงความส่ง [3],[4]
ด้วยความอยากรู้ ผู้เขียนจึงลองเอาหัวข้อที่นิสิตเอกภาษาอังกฤษเคยต้องเขียนเรียงความส่งมาให้ ChatGPT ทำดู ก็ได้ผลดีดังที่เห็น. จริงๆแล้ว อาจจะดีกว่าที่นักเรียนหลายคนส่งมาเสียอีก. ถ้าให้คะแนนชิ้นงานนี้ก็จะได้คะแนนดีมากเลย
ChatGPT ตอบข้อสอบอัตนัย
เช้าวันต่อมา อาจารย์ในภาควิชาคนหนึ่งไลน์มาว่า AI สามารถตอบข้อสอบในวิชาของเขาได้ดีด้วย
คำถาม : Layers of meaning can be incorporated into advertisements. With reference to two linguistic devices, i.e. conceptual metaphor and polysemy, discuss this point.
ChatGPT : Yes, layers of meaning can certainly be incorporated into advertisements through the use of linguistic devices such as conceptual metaphor and polysemy.
Conceptual metaphor is a type of metaphor that involves using one concept or idea to understand another, unrelated concept. For example, an advertisement for a car might use the conceptual metaphor “life is a journey” to suggest that the car will help the viewer to navigate the challenges and opportunities of life. This metaphor allows the ad to connect the car with ideas such as adventure, exploration, and growth, and to associate these ideas with the brand.
Polysemy, on the other hand, is the presence of multiple meanings for a single word or phrase. For example, an advertisement for a perfume might use the word “fragrance” in a polysemous way, to refer both to the scent of the perfume and to the pleasant feelings that it evokes. By using this word in multiple senses, the ad is able to add layers of meaning to its message, and to connect the perfume with ideas such as beauty, sensuality, and pleasure.
In both of these cases, the advertisements are able to add layers of meaning to their messages by using linguistic devices to create associations and connections in the viewer’s mind. This can make the ads more effective, memorable, and engaging, and can help the brands to stand out and differentiate themselves from their competitors.
เห็นคำตอบแล้วก็ได้อึ้ง ไม่ธรรมดาเลย. ChatGPT สามารถโยงเรื่อง conceptual metaphor กับ polysemy ไปใช้ประโยขน์ในงานการตลาดได้. ความสามารถในการตอบคำถามนี้มาจากไหน. เดี๋ยวจะมาดูประเด็นนี้กันภายหลัง. แต่เพื่อให้แน่ใจว่า AI สามารถตอบข้อสอบอัตนัยได้จริง ๆ ผู้เขียนจึงลองตั้งคำถามเกี่ยวกับวิชาทฤษฎีภาษาศาสตร์ให้ ChatGPT ตอบ และนี่คือผลที่ได้กลับมา
คำถามนี้เป็นคำถามกว้าง ๆ ให้แสดงความเข้าใจเกี่ยวกับสองทฤษฎีใหญ่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร. ซึ่ง AI ก็ตอบใช้ได้ และได้ความชัดเจนในสี่ย่อหน้า. เมื่อลองเจาะลงคำถาม ถามถึงชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่า AI มีความรู้จริงไหมว่าใครบ้างที่เห็นด้วยกับแนวคิด universal grammar ใครบ้างที่ไม่เห็นด้วย. AI ก็บอกได้ว่าคนสำคัญคือ Chomsky และยังให้ชื่อคนอื่น ๆ ด้วยในกลุ่มนี้ ในกลุ่มตรงกันข้ามก็ให้ชื่อคนสำคัญ ๆ ได้ถูกต้อง
เมื่อลองเจาะไปที่ทฤษฎีหนึ่งโดยเฉพาะให้เทียบระหว่าง mental space model กับ conceptual blending ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะในทางภาษาศาสตร์ปริชาน. AI ก็อธิบายตอบได้ในสี่ย่อหน้าเช่นเดิม.
และเมื่อทดลองถามคำถามอื่น ๆ ในหลากหลายสาขา ทั้งที่เป็นเรื่องทั่วไปหรือเจาะจง ก็ดูเหมือน ChatGPT จะตอบเราได้หมด
ดูเหมือน หาก GPT3 เคยอ่านหรือเรียนรู้อะไรมา ChatGPT ก็สามารถประมวลความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ มาตอบได้หมด. ถ้าเช่นนั้น เราลองถามอะไรที่ GPT3 ไม่รู้ไม่เคยอ่านมาก่อน ดูว่าจะตอบอย่างไร. เมื่อลองถามถึงทฤษฎีที่สมมติชื่อขึ้น Nemixis theory ChatGPT ก็ไม่ได้ถูกหลอก สามารถตอบว่าไม่เคยรู้จักทฤษฎีนี้มาก่อน ไม่เหมือน GPT รุ่นก่อนที่จะพยายามเขียนตอบทุกอย่างแม้ไม่รู้ก็จะแต่งเรื่องขึ้นมาเอง. เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะในบล็อก OpenAI [1] ได้อธิบายว่า ChatGPT ถูกออกแบบมาให้ตอบเฉพาะเรื่องที่รู้ที่เคยประมวลความรู้ไว้ ไม่ให้ตอบสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ตอบสิ่งที่ไม่ควรตอบ เช่น ช่องทางหรือวิธีการก่ออาชญกรรม ฯลฯ
AI กับผลกระทบด้านการศึกษา
ด้วยความสามารถแบบนี้ คำถามสำคัญสำหรับครูทั้งหลาย คือ เรายังสามารถใช้ข้อสอบอัตนัยเพื่อประเมินผล วัดความรู้นักเรียนได้ไหม เพราะที่เห็นไม่ใช่แค่เรื่องการสั่งงานให้ฝึกเขียนเรียงความภาษาต่าง ๆ แล้ว แต่เป็นงานการบ้านหรือการเขียนรายงานตอบคำถามในรายวิชาเนื้อหาต่าง ๆ ที่นักเรียนไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่ให้ AI ตอบแทนแล้วเอามาส่งครู หากครูไม่สงสัยอะไร นักเรียนก็คงทำคะแนนได้ดีในงานวิชาต่าง ๆ [5]
โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การศึกษาเปลี่ยน?
แวบแรกในความคิดของครูหลายคน คงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้นักเรียนแอบใช้ AI ทำงานเขียนมาส่ง น่าจะต้องบังคับให้นั่งเขียนในห้องเรียนเท่านั้น ห้ามใช้อินเทอร์เน็ตหรือมือถือใด ๆ ดีไหม. หลายคนคงยืนกรานว่าการฝึกให้นักเรียนเขียนเองให้ได้เป็นทักษะที่จำเป็นต้องฝึก หากปล่อยให้นักเรียนใช้ AI ช่วยเขียนแบบนี้ ต้องถึงกาลล่มสลายของการศึกษาแล้ว นักเรียนจะเขียนอะไรไม่เป็น. แต่เราสามารถทำเช่นนั้นได้จริงไหม. เราสามารถเพิ่มชั่วโมงการฝึกเขียนในห้องเรียนได้เพียงพอจริงหรือ
ในโลกภายนอก มีเครื่องมือที่เป็น AI writing จำนวนมากช่วยในการเขียนงานต่าง ๆ จำหน่ายและให้ใช้งานได้ [6]. นักเขียนอาชีพหลายคนก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยในการทำงานของตนอยู่แล้ว. การห้ามนักเรียนใช้เครื่องมือเหล่านี้กับการสอนให้นักเรียนรู้จักเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเครื่อมือเหล่านี้ อะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากัน. แต่ไม่ว่าอย่างไร การเรียนการสอนที่เคยเป็นมา ครูเองก็ควรเข้าใจว่าวิธีการวัดประเมินผลแบบที่ทำมาอาจไม่เหมาะอีกต่อไป. ข้อสอบอัตนัยที่เคยเชื่อว่าใช้วัดความรู้ความเข้าใจได้ดีกว่าข้อสอบปรนัย ณ ตอนนี้ คำถามประเภทว่า X ต่างจาก Y อย่างไร, ข้อดีข้อเสียของเรื่อง X คืออะไร, จงแสดงความเห็นในเรื่อง X, ให้อธิบายว่า X คืออะไร สำคัญอย่างไร, … คำถามที่สามารถค้นข้อมูลทั่วไปมาตอบหรือสรุปได้แบบนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะถามแล้ว. แม้ว่าในอดีต กว่านักเรียนจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ นักเรียนก็ต้องไปอ่านทำความเข้าใจแล้วเขียนใหม่ด้วยภาษาตัวเอง ห้ามลอกมาเลยเพราะโปรแกรมตรวจการลักลอกจะจับได้. แต่ตอนนี้นักเรียนสามารถใช้ AI ช่วยหาคำตอบให้และเขียนสรุปตอบเป็นภาษาใหม่โดยไม่ได้ลอกข้อความใครมาได้โดยง่าย. ครูจึงต้องเรียนรู้ว่าคำถามแบบไหนที่นักเรียนจะใช้ AI ช่วยตอบไม่ได้ คำถามแบบไหนที่จะวัดความรู้ได้จริง. เช่น หากให้บทความหนึ่งมาอ่านแล้วให้นักเรียนวิเคราะห์หรือเลือกประเด็นที่น่าสนใจมาอภิปราย แบบนี้ ChatGPT ไม่สามารถช่วยทำแทนได้ในตอนนี้ (ซึ่งก็ต้องดูต่อว่าจะมี AI ตัวอื่นที่ถูกปรับแต่งให้อ่านและวิจารณ์ประเด็นในบทความออกมาให้ใช้ได้เมื่อไร)
ควรสอนทักษะอะไร
คำถามว่าทักษะอะไรที่ควรสอนนักเรียนเป็นคำถามที่มีมาทุกยุคสมัย เพียงแต่คำตอบในตอนนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม. สิ่งที่เคยเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็อาจไม่จำเป็นในปีหน้าก็ได้. เดิมเราฝึกทักษะภาษาทั้งการอ่านการเขียน สอนนักเรียนให้อ่านได้ดีเพื่อสามารถรับข้อมูลเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ และสอนนักเรียนให้เขียนเรียงความเพื่อให้สามารถถ่ายทอดแสดงความคิดเห็นเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ. แต่หาก AI สามารถมาช่วยงานเขียนแบบนี้ได้ดีกว่าเร็วกว่าการเขียนเองแล้ว นักเรียนที่อยากได้คะแนนดีก็แอบไปใช้โปรแกรมช่วยเขียนเหล่านี้ ไม่ได้ฝึกเขียนด้วยตนเองแบบเดิมอีก หากบังคับให้นั่งเขียนในชั้นเรียนก็ดูจะแย้งกับแนวทางการศึกษาที่พยายามลดเวลาในห้องเรียนและการมีสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น.
คำถามคือหากนักเรียนไม่เขียนเรียงความเอง รู้แต่วิธีใช้ให้ AI ช่วยเขียนงานแทน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ไหม. สำหรับผู้เขียน ในโลกจริงข้างหน้า หาก AI เป็นเครื่องมือช่วยในการเขียนได้ดี การใช้งาน AI ช่วยเขียนอะไรต่าง ๆ จึงเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้. สิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากกว่าคือความสามารถในการอ่านและวิเคราะห์ตัวบท เพราะแม้ AI จะเขียนงานตามสั่งได้ แต่ AI ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนมานั้นดีหรือไม่ดี เหมาะสมที่จะใช้ในงานที่ต้องการหรือไม่. มีแต่เราที่สามารถประเมินงานนั้นได้ การประเมินคุณภาพงานเขียนต้องอาศัยความสามารถในการอ่านเพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ความในนั้น. ทักษะการอ่านจึงเป็นทักษะที่อย่างไรก็จำเป็นต้องมีอยู่ และเป็นทักษะพื้นฐานในการแสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับ AI. ทั้งหมดเป็นสิ่งที่พัฒนาได้จากการฝึกอ่าน. และการฝึกทักษะการอ่านที่ดีควรเป็นการฝึกอ่านภาษาแม่ของผู้เรียน เพราะไม่มีอุปสรรคเรื่องภาษา มีเพียงการสร้างความเข้าใจโครงสร้างความและการเชื่อมโยงความในตัวบท หน้าที่และความสำคัญของแต่ละส่วนของข้อความในตัวบท. แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การเรียนรู้การอ่านภาษาไทยไม่ได้พัฒนาไปอย่างที่ควร คะแนนการอ่านภาษาไทยในการสอบ piza มีแต่จะแย่ลง [7]
อนาคตข้างหน้า
ความสามารถของ GPT3 ตลอดมาจนถึง ChatGPT ทำให้เห็นถึงขีดความสามารถของ AI ที่พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก นี่ยังไม่นับ GPT4 ที่มีคาดว่าจะเปิดตัวในปี 2023 [8] อะไรจะเกิดขึ้นหรือผลกระทบของ AI จะเป็นอย่างไร
ChatGPT คือผู้มาแทน Google search?
ความสามารถของ ChatGPT ฉายภาพให้เห็นว่า AI สามารถใช้ช่วยตอบคำถามหรือหาคำตอบสิ่งที่ต้องการได้ง่าย. ขอให้เป็นสิ่งที่ AI เคยประมวลความรู้ความเช้าใจเรื่องนั้นมาแล้ว ก็สามารถช่วยตอบได้. ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ช่วยเขียนโปรแกรมภาษา Python, ภาษา R ข้างล่างเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า AI ไม่ได้แค่รู้วิธีการเรียบเรียงความในภาษามนุษย์ แต่ในงานคอมพิวเตอร์ ภาษาต่าง ๆ AI ก็สามารถเข้าใจและเรียบเรียง code ของภาษานั้นมาได้.
เมื่อเทียบกับการหาคำตอบโดยใช้ Google search แบบก่อน ผู้เขียนต้องพิมพ์คำสำคัญที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมที่ต้องการ จากนั้นจะได้ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีคนถามหรือมีคนอธิบายหัวเรื่องนี้ แล้วเข้าไปดูว่ามี code ตัวอย่างแบบที่ต้องการหรือไม่. เมื่อเทียบกับ ChatGPT ที่เขียน code ให้ดูพร้อม comment อธิบาย code ด้วย หลายคนคงอยากใช้ ChatGPT หาคำตอบที่ต้องการมากกว่า. ในอนาคต การใช้งานอินเทอร์เน็ต การค้นหาข้อมูล คำตอบ ก็ไม่แน่ว่าวิธีการคุยกับ AI แบบนี้จะมาแทนที่การค้นเองแบบเก่าไหม. อย่างไรก็ดี เรื่องความถูกต้องของสิ่งที่ได้จาก AI หรือการได้ข้อสรุปหรือคำตอบโดยไม่ได้มีแหล่งอ้างอิงใดๆ ก็เป็นประเด็นที่ควรระวัง [9]
AI รู้จริงหรือ รู้อะไรแค่ไหน
แม้เราจะเห็นว่า AI มีความสามารถในการสร้างหรือ generate ข้อความ บทความในภาษาต่าง ๆ ได้ แต่ความสามารถนี้มาจากไหน บางคนมองว่าเป็นเพียงการเคยเห็นข้อความลักษณะนั้นมาก่อน ที่ ChatGPT ตอบคำถามวิชาต่าง ๆ ได้ เพราะเคยอ่านงานที่พูดถึงเรื่องนั้นมาก่อน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นจริง. ChatGPT ตอบโดยอิงข้อมูลที่เคยรับรู้มาก่อนจากทุก ๆ แหล่ง แต่หากลองถามเรื่องที่ไม่น่าจะเคยเห็น เช่น เรื่องของ linguistics กับ transportation. ChatGPT ก็เชื่อมโยงความรู้ที่มีและสร้างคำตอบเองได้ตามที่แสดงข้างล่างนี้ โดย ChatGPT บอกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ indirect, ทั้งสองอย่างมีส่วนเหมือนกันคือเป็น communication และการ exchange information และยกตัวอย่างมาอธิบาย เช่น อินเทอร์เน็ตทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งได้ อย่างพวกที่เป็นตารางเดินทาง สภาพการจราจร และยังโยงไปถึงการศึกษาภาษาช่วยในการพัฒนาการใช้ sign และ instruction ที่ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ด้วย. ตัวอย่างนี้ ทำให้เห็นความพยายามของ ChatGPT ที่จะเชื่อมโยงระหว่างสองหน่วยความหมายนี้ให้ได้แม้ไม่เคยเห็นหรืออ่านว่ามีใครพูดถึงมาก่อน.
ความรู้ที่ AI ได้จากการอ่านข้อมูลภาษาจำนวนมหาศาลทำให้ AI มองเห็น association pattern ในทุกมิติของภาษา ไม่ว่าจะเป็น morphology, syntax, semantics. เราเห็นการใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ไม่มีการเขียนผิดไวยากรณ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้ agreement, tense, pronoun, การใช้คำเชื่อม. AI ยังเห็นภาษาในระบบต่าง ๆ หรือที่เป็น polysystem ข้างในด้วย. AI สามารถใช้ภาษาในทำเนียบหรือ register ที่กำหนด เขียนในรูปแบบหรือสไตล์การเขียนของนักเขียนต่าง ๆ แม้แต่ภาษาอื่น ๆ ก็เรียนรู้ผ่านข้อมูลที่อ่านเข้าไป เมื่อลองให้เขียนภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาไทย ตามตัวอย่างที่แสดงข้างล่าง ChatGPT ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง. แม้ว่าคุณภาพจะไม่ดีใช้งานได้เลยเหมือนภาษาอังกฤษ ก็ไม่ใช่เพราะภาษาอื่นนั้นยากเกินไป แต่เป็นเพราะยังไม่ได้เห็นข้อมูลภาษานั้นๆ มากพอที่จะจับความสัมพันธ์ภายในได้ดีเหมือนที่ทำกับภาษาอังกฤษ. หรือเมื่อสั่งให้เขียนโปรแกรม Python หรือ R, ChatGPT ก็สามารถโยงความจากภาษาอังกฤษว่าต้องการอะไร และความต้องการนั้นแทนด้วยคำสั่งอะไรในภาษา Python หรือ R. ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการเข้าใจข้อมูลภาษาต่าง ๆ ที่เป็นระบบสัญญะและการมีอยู่และเชื่อมโยงของระบบย่อย ๆ ที่เป็น polysystem ภายใน
มนุษย์และ AI
ในอนาคต เรายังไม่ได้พูดถึง AI ที่อาจเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วย ไม่ได้เรียนรู้เข้าใจเฉพาะข้อมูลจากภาษาต่าง ๆ. เมื่อถึงวันนั้น พัฒนาการความสามาถของ AI จะไปได้ไกลแค่ไหน และอะไรจะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตมนุษย์. หลายคนอาจมองด้วยความคาดหวังว่า AI จะเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ที่ช่วยเราในงานด้านต่าง ๆ ในการแสวงหาความรู้หรือคำตอบเรื่องต่าง ๆ อีกมากมาย แต่บางคนก็อาจจะรู้สึกถึงภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามเทคโนโลยีเรื่อยๆ การที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ตลอดทุก ๆ ปี หรือการคุกคามอาชีพการงานที่เคยทำมา หรือแม้แต่ภัยหาก AI สามารถพัฒนาจนมีจิตสำนึกตัดสินใจด้วยตัวเองได้
เพื่อปลอบใจและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผู้เขียนจึงได้ขอให้ ChatGPT แต่งบทกวีให้กำลังใจผู้คนที่อาจจะหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี. ChatGPT จึงได้แต่งบทกวีนี้มอบให้แก่เรา.
จงอย่าได้หวาดกลัวเลย แม้ AI จะเก่งกล้าสามารถขึ้น เราก็ยังเป็นเรา. เทคโนโลยีไม่อาจกำหนดตัวตนของเรา เรายังเป็นมนุษย์ผู้มีความหวังมีความฝัน เราต้องเข้มแข็งและเป็นอิสระ. AI อาจเปลี่ยนแปลงโลกที่เราเคยรู้จัก แต่ AI ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเราจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ได้.
ขอเป็นกำลังใจแก่ทุกท่านก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกภายหน้า
อ้างอิง
[1] https://openai.com/blog/chatgpt/
[4] https://www.nature.com/articles/d41586-022-04397-7
[6] https://renaissancerachel.com/best-ai-writing-tools/
[7] https://www.bbc.com/thai/international-50642536
[8] https://analyticsindiamag.com/gpt-4-is-almost-here-and-it-looks-better-than-anything-else/
[9] https://www.cnet.com/tech/computing/why-were-all-obsessed-with-chatgpt-a-mind-blowing-ai-chatbot/