ChatGPT: Why Johnny can’t write
ในปี ค.ศ.1975, Newsweek ตีพิมพ์บทความ Why Johnny can’t write [1] กล่าวถึงปัญหาการเขียนของนักเรียนในสหรัฐอเมริกาว่าไม่สามารถเขียนได้ดีเหมือนนักเรียนในสมัยก่อน. ผลการประเมินนักเรียนวัย 13–17 ปีในปี 1969 แสดงให้เห็นถึงปัญหาการเขียนที่แย่ลง สะกดคำผิด ใช้คำบุพบทผิด มีปัญหาการลำดับความคิด ความต่อเนื่องของความก็ไม่ดี และว่าปัญหาเหล่านี้ปรากฏมาเป็นทศวรรษแล้ว ในบทความยังกล่าวถึงสาเหตุแห่งปัญหาว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนวิธีการสอนที่ได้อิทธิพลจากนักภาษาศาสตร์โครงสร้างที่เห็นภาษาเขียนสำคัญน้อยลง ไม่สนใจภาษาที่ดีได้มาตรฐาน การไม่มีชั่วโมงฝึกมากพอ การเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ผู้คนดูทีวีมากขึ้นจนมีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง
บทความนี้ก่อให้เกิดกระแสและความเห็นที่หลากหลายตามมา ก่อนหน้านี้ Aldrich (1972) [2] ก็เคยพูดถึงปัญหาการเขียนของนักเรียนในบทความชื่อเดียวกัน และชี้ไปที่ปัญหาของระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการเขียน นักเรียนไม่ได้มีเวลาฝึกหัดเขียนมากพอ ครูเองก็ไม่ได้ถูกเตรียมให้พร้อมสำหรับสอนการเขียน ต่างจากในอดีตที่ให้ความสำคัญว่าครูสอนภาษาอังกฤษจะต้องเขียนได้ดีก่อนจึงจะสามารถสอนเขียนได้. Bergen Jr. (1976) [3] ก็เขียนบทความชื่อเดียวกัน Why Johnny can’t write? มองว่าปัญหาเกี่ยวพันกับระบบการศึกษาที่ไม่ได้ให้นักเรียนได้เขียนมากพอ และไม่ได้เห็นว่าการเขียนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ต้องใช้เวลาไม่ใช่สิ่งที่จะรีบทำให้เสร็จในเวลาจำกัด ข้อสอบวัดทักษะการเขียนประเมินที่ความเร็ว คือใครเขียนได้เสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาที่จำกัดมากกว่า ไม่ได้มองว่าการเขียนเป็นงานศิลป์ที่ต้องใช้เวลาทั้งการเลือกใช้และเรียบเรียงถ้อยคำ. ส่วน Collignon (1978) [4] เสนออีกความคิดในบทความ Why Leroy Can’t Write ว่าการอ่านออกเสียงเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยพัฒนาการเขียนได้ เพราะการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องช่วยให้จับจังหวะจะโคนและเขียนได้ราบรื่นใส่วรรคตอนและใช้วิภัตติปัจจัย (inflection) ได้ถูกต้อง อีกทั้งนักเรียนจำนวนหนึ่งพูดอธิบายได้คล่องแคล่วแต่เขียนไม่ได้ การอ่านออกเสียงจะช่วยเชื่อมโยงทักษะการพูดสู่การเขียนสำหรับนักเรียนเหล่านี้ได้. Collignon ยกตัวอย่างประโยคอย่าง There he worked the city beat and was an indefatigable police reporter; but soon he decided that the paper, then not even the best in town, had little use for ambitious young men. และว่าคนที่เขียนได้ดีจะอ่านประโยคนี้ออกมาได้ไพเราะ. สำหรับนักภาษาศาสตร์ Elgin (1976) [5] เขา ไม่ได้ปฏิเสธว่าปัญหาการเขียนของนักเรียนที่แย่ลงกว่าในอดีตไม่มีจริง แต่ต้องการโต้แย้งความเข้าใจผิดที่ภาษาศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของปัญหาการเขียนที่แย่ลงตามที่ปรากฏใน Newsweek
หลังจากบทความ Why Johnny Can’t Write ในปี 1975, ปัญหาการเขียนอ่านก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงเป็นระยะ. บทความของ Varnum (1986) From Crisis to Crisis: The Evolution toward Higher Standards of Literacy in the United States [6] ผู้เขียนวิเคราะห์ปัญหาการรู้หนังสือในอเมริกาที่มักถูกมองว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเน้นว่าวิกฤตินี้มักเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวม ไม่ใช่การลดลงของทักษะการอ่านเขียนโดยตรง. Varnum กล่าวถึงวิกฤตการศึกษาห้าครั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งแรกมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้มีคนเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น. จำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น ครูไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง. เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาภาษาอังกฤษและทักษะด้านการเขียน ไวยากรณ์และการสะกดคำ ครั้งที่สองและครั้งที่สามเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่กองทัพเป็นผู้พบปัญหาว่าทหารเกณฑ์ขาดทักษะการอ่านเขียนที่ดี. จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้มุ่งเน้นเพิ่มทักษะการอ่านเขียนที่ตอบความต้องการงานอาชีพต่าง ๆ ในช่วงสงครามโลกนั้น. หลังสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงสงครามเย็น ปัญหาการอ่านเขียนถูกเน้นมากขึ้นเพื่อรักษาความสามารถของอเมริกาในการแข่งขันกับชาติอื่น ๆ. และครั้งที่ห้า เป็นผลมาจากคะแนนการสอบระดับชาติที่ลดน้อยถอยลงจนเป็นที่มาของบทความใน Newsweek.
Vernum ชี้ว่าวิกฤติการรู้หนังสือนั้นมักสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและความคาดหวังของสังคมมากกว่าการลดลงของทักษะการอ่านเขียนจริง ๆ. ต่อมาในบทความของ Williams ในบทความ Why Johnny Can Never, Ever Read: The Perpetual Literacy Crisis and Student Identity. [7] ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการอ่านและเขียนในทำนองเดียวกัน โดยแสดงให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงมาต่อเนื่องกว่า 150 ปีแล้ว และชี้ว่าความวิตกกังวลนี้มักสะท้อนถึงความกังวลของชนชั้นกลางเกี่ยวกับสถานะและสิทธิพิเศษของตนมากกว่า. Williams เน้นว่าการรู้หนังสือในสังคมปัจจุบันถูกมองเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญสำหรับการรักษาสถานะของชนชั้นกลาง และความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของทักษะการอ่านเขียนมักเน้นเฉพาะการรู้หนังสือที่สอดคล้องกับมาตรฐานของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น โดยมองข้ามทักษะการรู้หนังสืออื่น ๆ เช่น การสื่อสารดิจิทัลที่คนรุ่นหลังนิยมมากกว่า
ดังนั้น เราจะเห็นว่าปัญหาการเขียนนั้นเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงมาต่อเนื่อง อาจมาจากหลายเหตุผล เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่การศึกษาเป็นเรื่องของชนชั้นสูงเท่านั้น การที่การศึกษาขยายสู่คนจำนวนมากตามความต้องการของสังคม จำนวนนักเรียนจึงเพิ่มมากขึ้น ครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบนักเรียนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อดูภาพรวมความสามารถหรือคะแนนก็จะเห็นว่าไม่ได้ดีเท่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อเทียบวัดจากมาตรฐานการเขียนแบบเดิมที่ต้องการ. อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละสมัยอย่างโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกม สื่อสังคมออนไลน์ ต่างก็เบี่ยงเบนความสนใจนักเรียนไปจากการอ่านหนังสือแบบเดิม. เมื่ออ่านหนังสือน้อยลง ความสามารถในการเขียนให้ได้ดีแบบเดิมก็ยากขึ้น ผนวกกับปัญหาการพยายามเพิ่มจำนวนครูแต่ครูส่วนหนึ่งก็อาจจะไม่สามารถสอนเขียนได้ดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะรับรู้ถึงปัญหาการเขียนนี้มาตลอด ซึ่งสังคมไทยก็ไม่ต่างไปจากนี้
ChatGPT ซ้ำเติมปัญหาการเขียน?
จากเดิมที่การเขียนยังเป็นปัญหาสำคัญที่น่าวิตก การมาของ generative AI อย่าง ChatGPT เมื่อ 30 พ.ย. 2022 ได้เพิ่มความวิตกกังวลให้กับครูสอนการเขียนมากขึ้น เพราะนักเรียนสามารถใช้ ChatGPT ช่วยเขียนงานที่สั่งไปได้ทันที โรงเรียนหลายแห่งจึงได้ห้ามนักเรียนใช้ ChatGPT และมองหามาตรการในการตรวจจับและลงโทษ เพราะยึดตามกรอบความคิดเดิมว่าการฝึกเขียนด้วยตัวเองเป็นกระบวนการสำคัญที่นักเรียนจะได้รวบรวมข้อมูล ลำดับความคิด และนำเสนอความคิดออกมาเป็นภาษาเขียนสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจสิ่งที่ต้องการเสนอได้. หากนักเรียนไม่ได้ทำเองแล้วการเรียนรู้ก็จะไม่เกิด.
Baron (2023) [8] มองปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ในบทความ How ChatGPT robs students of motivation to write and think for themselves ผู้เขียนแสดงความวิตกว่า AI อาจทำให้ทักษะการเขียนและแรงจูงใจในการเขียนของนักเรียนลดลง เพราะโปรแกรมอย่าง ChatGPT และเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้ AI เพื่อแก้ไขหรือเติมข้อความให้ทันทีที่เริ่มเขียนบางอย่างจะลดทอนความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนลง ทำให้ความคิดเห็นที่เป็นตัวตนหรือสไตล์เฉพาะของผู้เขียนไม่ได้ถูกแสดงออกมา นักเรียนบางคนบอกว่าเวลาที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ พวกเขารู้สึกเหมือนไม่ได้เขียนงานนั้นเองเพราะเครื่องเลือกหรือเติมต่อคำให้อัตโนมัติ. การใช้ ChatGPT เขียนงานแทนจึงทำให้นักเรียนไม่ได้ฝึกใช้ความคิดของตนเอง. นักเขียน Flannery O’Connor เคยพูดว่า “I write because I don’t know what I think until I read what I say.” การเขียนจึงควรเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราได้เรียบเรียงความคิดให้ชัดเจน. Baron จึงหวังว่าทั้งครูและนักเรียนจะตระหนักถึงข้อจำกัดของ AI และจะมองการเขียนว่าไม่ได้เป็นเพียงการทำงานเพื่อให้ได้คะแนนเท่านั้น
Warner (2023) [9] ก็พูดถึงกรณีปัญหาของ ChatGPT ว่า แม้จะดูเป็นปัญหาร้ายแรง แต่เขาเห็นว่าปัญหาของการให้ทำงานเขียนนั้นมีมาก่อนแล้ว เขาให้เหตุผลว่าในการให้นักเรียนทำงานเขียนส่ง ครูมักจะประเมินงานเขียนโดยพิจารณาจากภาษาที่ใช้ในการเขียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการดูในระดับผิวที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเข้าใจและการเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียน. ตัวเขาเองในสมัยเรียนก็รู้วิธีการว่าจะทำงานส่งอย่างไรให้ได้เกรด B+ เพราะครูมักเห็นว่าอย่างน้อยนักเรียนก็ตั้งใจเขียนบางอย่างมา แม้ไม่ดีอย่างที่หวังแต่ก็ไม่ได้แย่. ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพียงแต่ ChatGPT มาทำให้เห็นว่าการให้ทำงานเขียนส่งนั้นมีปัญหาชัดเจนขึ้นเท่านั้น. ความเป็นจริงคือเราต้องหันมาทบทวนว่าจะประเมินงานเขียนอย่างไรให้เกิดผลต่อการเรียนรู้ได้จริง. หากการให้เขียนงานเพียงเพื่อให้นักเรียนรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่แล้วมาสรุปส่ง การบ้านนั้นก็ไร้ประโยชน์เพราะ ChatGPT ช่วยทำให้ได้เร็วและดีอยู่แล้ว
ดูเหมือนทั้ง Baron และ Warner จะมองงานเขียนในแบบสร้างสรรค์และวิพากษ์เป็นสำคัญ. คุณค่าและประโยชน์ของการให้ทำงานเขียนนั้น จึงไม่ได้อยู่ที่การเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่เป็นการเรียบเรียงความคิดและมีวิธีการนำเสนอความคิดของตัวเองเรียงร้อยมาเป็นถ้อยคำตามสไตล์ตัวเอง. ในมุมของการเขียนแบบนี้ การใช้ ChatGPT ช่วยเขียนงานมาส่งเลย ผลงานที่ได้จะมีลักษณะดาษดื่น ไม่ได้มีอะไรผิด แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเด่นน่าสนใจ ทุกอย่างเป็นไปตามขนบการเขียนที่ควรจะเป็น หากไม่ถูกจับได้ว่าไม่ได้เขียนเอง ครูก็มักให้ B หรือ B+. ซึ่งสำหรับนักเรียนที่ไม่ปรารถนาจะเรียนรู้อะไร การได้เกรดเช่นนี้โดยไม่ต้องทำอะไรก็ดูเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแล้ว. ยิ่งในวิชาเนื้อหาอื่น ๆ ที่การให้ทำงานเขียนส่งเป็นการให้รวบรวมเรียงเรียงข้อมูลมาให้ถูกต้องมากกว่าจะสนใจการเขียนเชิงสร้างสรรค์. การใช้ ChatGPT ก็เป็นตัวช่วยได้เป็นอย่างดี
ควรให้ใช้ ChatGPT หรือไม่?
หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรห้ามใช้ ChatGPT เลยจะดีไหม หรือไม่ก็แสวงหาเครื่องมือมาตรวจว่างานที่ส่งมานั้นใช้ AI เขียนหรือไม่. แทนที่เราจะกังวลและเสียเวลากับการห้ามหรือตรวจจับงานเขียนนักเรียน ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้โดยตรง อีกทั้งเทคโนโลยี AI ก็จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างแน่นอน เพราะมีงานจำนวนมากที่จะได้ใช้ประโยชน์จาก generative AI งานภาษาต่างประเทศที่ต้องการให้ AI ช่วยตรวจแก้ภาษาให้ถูกต้อง. งานที่ต้องการเพียงการเขียนเพื่อสื่อความเป็นหลัก เช่น บทความหรือรายงานข้อมูลข่าวสารบนเว็บ. การเขียนจดหมายโต้ตอบ การเขียนบันทึกข้อความ จดหมายข่าว งานเหล่านี้มีแบบแผนการใช้ภาษาที่เป็นที่รับรู้ร่วมกัน สามารถใช้ AI ช่วยเขียนเพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาการทำงานได้. การเรียนรู้ที่จะใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยงานจึงเป็นสิ่งที่นักเรียนควรทำอยู่แล้ว
สิ่งที่ควรเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องการวัดประเมินผลงานเขียนมากกว่า. หากรู้ว่าวิธีการวัดและประเมินแบบเดิมที่ทำมานั้นใช้ไม่ได้ ก็ควรคิดหาวิธีการใหม่ หากนักเรียนจะใช้ ChatGPT ช่วยเขียน ทำอย่างไรให้เขาสามารถสร้างงานเขียนให้ออกมาดีกว่าที่ ChatGPT เขียนโดยตรง ทำอย่างไรให้งานนั้นสะท้อนความคิดความเข้าใจและตัวตนของนักเรียนเองได้. การประเมินงานเขียนจึงไม่ใช่การดูที่ผลที่ได้อย่างเดียว แต่ควรมีกระบวนการให้ความเห็น วิจารณ์ ปรับแก้ เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายของการให้ทำงานเขียนนั้น ในกระบวนการนี้ การนำ ChatGPT มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการสร้างงานก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และอาจเป็นเรื่องดีที่นักเรียนไม่ต้องกังวลเรื่องการเขียนผิดไวยากรณ์มากแล้ว แต่ไปมุ่งที่วิธีการเขียน พร้อมทั้งเรียนรู้ข้อดีข้อจำกัดของ ChatGPT เพื่อใช้งานได้เหมาะสมต่อไป
หรือหากเป็นงานเขียนที่มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ได้ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เช่น การเขียนรายงานการประชุม การเขียนบันทึก หากผู้เรียนจะใช้ AI ช่วยทำงานให้ออกมาได้ถูกต้องก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไร เพราะผลที่ต้องการคือการเขียนที่ถูกตามขนบที่กำหนด หากนักเรียนจะทำได้เองหรือใช้เครื่องมือช่วยทำให้ได้ถูกต้อง ก็ถือว่าบรรลุสิ่งที่ต้องการแล้ว
สำคัญที่การอ่าน
หากเรายอมรับรูปแบบการนำ generative AI มาใช้ประกอบการเขียนแบบนี้แล้ว การเขียนให้ถูกไวยากรณ์ก็จะไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะนักเรียนสามารถให้ AI ช่วยตรวจแก้ภาษาให้ถูกไวยากรณ์ได้ หรือถ้านักเรียนยังมีปัญหาการเขียนระดับพื้นฐานนี้และอยากฝึกการเขียนให้ถูกต้องตามไวยากรณ์ ก็สามารถใช้ AI เป็นผู้ช่วยสอนคอยแก้พร้อมอธิบายที่ผิดไปได้เรื่อย ๆ ภาระเหล่านี้ไม่ควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับครูสอนภาษาอีกแล้ว. ครูผู้สอนควรมุ่งไปเรื่องที่ยากและซับซ้อนกว่านั้น ควรช่วยแนะนำให้นักเรียนพัฒนาความสามารถการเขียนสร้างสรรค์หรือเชิงวิพากษ์ได้
เมื่อการทำงานใด ๆ ต้องใช้ AI ประกอบ สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ต้องมีคือทักษะการอ่านที่ดี เพราะต้องสามารถอ่านเพื่อประเมินและวิเคราะห์สิ่งที่ AI เขียนหรือสรุปมาให้ว่าถูกต้องใช้ได้ไหม มีส่วนไหนที่ยังไม่ชัดเจน ควรปรับแก้ไขอย่างไร กลายเป็นว่า ในโลกข้างหน้าที่ AI เป็นเครื่องมือช่วยการเขียน เพื่อที่จะเขียนให้ได้ดีอย่างที่ต้องการ การอ่านให้เข้าใจความกลับเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นมากกว่า. ดังนั้น หากต้องย้อนกลับมาที่ปัญหาตั้งต้นว่า Why can’t Johnny write? บางทีคำถามที่เป็นปัญหาสำคัญมากกว่าคือ Why can’t Johnny read? และการแก้ปัญหาการอ่านให้เข้าใจความ สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์งานที่อ่านได้น่าจะมีความสำคัญมากกว่าในโลกที่เราต้องทำงานร่วมกับ AI หากขาดซึ่งทักษะนี้แล้ว เราก็จะไม่สามารถตรวจสอบหรือสั่งให้ AI ปรับแก้ไขงานให้ได้ตามที่ควร หรือจริง ๆ คือ หากขาดทักษะการอ่านและประเมินงานแล้ว เราก็เป็นเพียงทางผ่านข้อมูล กลายเป็นสิ่งที่ Yuval Noah Harari เรียกว่ากลุ่มคนไร้ประโยชน์ “useless class”
หันกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยเอง คะแนนการสอบ PISA ของนักเรียนไทยมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะเรื่องการอ่านที่ลดลงต่อเนื่องชัดเจน ดังนั้น หากจะต้องเตรียมความพร้อมของคนไทยในยุคที่ AI เข้ามีบทบาทสังคม ปัญหา Why Johhny can’t write อาจไม่สำคัญมากเท่า ทำไมสมศักดิ์อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง
Beneficial AI
การก้าวเข้ามาของ AI ในสังคมนี้ ประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงมากคือเรื่องการเข้ามาเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง. AI ไม่ควรเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางผิด ก่อผลร้ายกับมนุษย์. มีการพูดกันถึงเรื่องต่าง ๆ เช่น การป้องกันไม่ให้ AI กลายเป็นภัยคุกคาม (AI safety) การเห็นและเข้าใจคุณค่าสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ (AI alignment) ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ เป็นเรื่องนามธรรมที่กำหนดให้ชัดเจนได้ยาก เป็นการมอง beneficial ในภาพใหญ่
สำหรับเราที่เป็นปัจเจกชนที่ต้องอยู่ในยุค AI นี้ beneficial AI ถ้ามองจากส่วนบุคคลคือ จะทำให้ AI เป็นประโยชน์กับเราได้อย่างไร การเป็นประโยชน์นี้ไม่ได้หมายความว่าให้ AI มาช่วยทำงานแทน หรือทำให้เราทำงานได้สำเร็จเร็วขึ้น หรือปลดปล่อยเราจากงานที่ทำอยู่ เพราะหากเป็นประโยชน์ในลักษณะนี้ ผลที่ตามมาในที่สุดคือ ตัวเราเองจะค่อย ๆ หมดคุณค่าและบทบาทหน้าที่ในสังคม เพราะถ้า AI สามารถมาทำงานแทนเราได้แล้ว ท้ายที่สุดเราก็จะถูกแทนที่หรือโยกย้ายไปจากงานที่ทำอยู่
การเป็นประโยชน์สำหรับเราจึงควรเป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาตน คือ AI ช่วยทำให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น สามารถมากขึ้นได้อย่างไร หากเป็นนักเรียน ก็ควรเป็นการใช้ AI แล้วทำให้เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เรียนมากขึ้น คิดได้กว้างรอบด้านขึ้น ทำงานยาก ๆ ได้. หากเป็นครู การใช้ AI ก็เพื่อให้เข้าใจวิธีการสอนที่เหมาะสมมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาและวิธีแนะนำให้นักเรียนเข้าใจตามได้ดีขึ้น
เพราะ AI สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและเร็วกว่ามนุษย์ การยอมรับใช้งาน AI จะเกิดขึ้นในทุกแวดวง และผลที่ตามมาคือการที่ AI สามารถมาแทนที่หรือลดงานของคนที่เคยทำงานอยู่ การเข้ามาของ AI ลักษณะนี้ย่อมไม่ใช่ประโยชน์สำหรับผู้คนที่สูญเสียงานของตนไป. จึงเป็นเรื่องที่ควรระวัง. หาก AI จะมาเพื่อประโยชน์ของคนในสังคมจริง เราต้องถามตัวเองตลอดมา ทำอย่างไรจึงจะนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และประโยชน์นั้นคือการทำให้เราดีขึ้นเก่งขึ้นได้ใช่หรือไม่ พึงระวังไม่มองประโยชน์ในด้านความสะดวกสบายเป็นหลัก เพราะหากเราปล่อยให้ AI มาทำงานแทนให้เราสบายขึ้นได้ เราก็อาจจะได้สบายไปตลอดชีวิตที่เหลือ
อ้างอิง
[1] Sheils, M. (1975). Why Johnny can’t write. Newsweek. Dec 8, 1975. (https://www.leetorda.com/uploads/2/3/2/5/23256940/why_johnny_cant_write__newsweek_1975___1_.pdf)
[2] Aldrich, P. G. (1972). Why Can’t Johnny Write? English Education, 3(3), 181–188. http://www.jstor.org/stable/40171982
[3] Bergen, T. L. (1976). Why Can’t Johnny Write? The English Journal, 65(8), 36–37. https://doi.org/10.2307/815563
[4] Elgin, S. H. (1976). Why “Newsweek” Can’t Tell Us Why Johnny Can’t Write. The English Journal, 65(8), 29–35. https://doi.org/10.2307/815562
[5] Collignon, J. (1978). Why Leroy Can’t Write. College English, 39(7), 852–859. https://doi.org/10.2307/375713
[6] Varnum, R. (1986). From Crisis to Crisis: The Evolution toward Higher Standards of Literacy in the United States. Rhetoric Society Quarterly, 16(3), 145–165. http://www.jstor.org/stable/3885715
[7] Williams, B. T. (2007). Why Johnny Can Never, Ever Read: The Perpetual Literacy Crisis and Student Identity. Journal of Adolescent & Adult Literacy, 51(2), 178–182. http://www.jstor.org/stable/40021846
[8] Baron, N. S. (2023). How ChatGPT robs students of motivation to write and think for themselves. Conversation. Retrieved from https://theconversation.com/how-chatgpt-robs-students-of-motivation-to-write-and-think-for-themselves-197875
[9] Warner, J. (2023, December 01). Assessing writing in the ChatGPT world. Retrieved from https://www.insidehighered.com/opinion/blogs/just-visiting/2023/04/21/chatgpt-and-writing-assessment-old-problem-made-new