Unbearable Lifelessness of Translation

Wirote Aroonmanakun
1 min readJan 28, 2021

--

ช่วงนี้ ข่าวโฆษณาหูฟังแปลภาษาผ่านมาตามช่องทางต่างๆ โฆษณาว่าแปลภาษาต่างๆได้ 40 ภาษาและถูกต้องถึง 95% แวบแรกที่ได้ยินก็รู้สึกเหมือนเดิมว่าน่าจะเป็นโฆษณาเกินจริง เพราะเรามั่นใจว่าการแปลภาษา ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่คอมพิวเตอร์จะทำได้เหมือนกับมนุษย์แปล

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงได้ทดลองใช้ Google Assistant เป็นล่ามแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ตัวอย่างที่เห็นนี้คือผลของการแปลที่เกิดขึ้น โดยใช้โปรแกรมฟรีที่ติดตั้งเพิ่มในเครื่อง iPhone 8 plus คือ Google Assistant สั่งให้ทำงานในโหมดล่าม เมื่อพูดข้อความทดลองเสมือนว่ากำลังไปบรรยายทางวิชาการ

เมื่อทดลองเสร็จก็ได้ลองถามอาจารย์สอนภาษาจีน และอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น ว่าที่เครื่องแปลและพูดออกมานั้นพอใช้ได้ไหม คำตอบที่ได้ คือเนื้อความใช้ได้ เข้าใจความตรงกับภาษาไทย แต่การใช้ภาษายังไม่เป็นธรรมชาติเสียทีเดียว แต่ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับว่าใช้ได้ ได้ใจความถูกต้อง

สำหรับนักแปล นักภาษาทั้งหลายเราอาจรู้สึกว่า ถึงอย่างไร สิ่งที่เครื่องแปลก็ยังไม่ perfect ภาษายังไม่เป็นธรรมชาติจริง และถ้าจะให้แปลบทวรรณกรรมหรือบทกวี เครื่องก็ยังแปลไม่ได้ดีเหมือนมนุษย์แปลอยู่ดี และที่สำคัญ เครื่องไม่รู้ไม่เข้าใจภาษาจริง ๆ เป็นการแปลที่ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณ แต่หากเราลองนึกย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน การแปลด้วยเครื่องเป็นอะไรที่เคยแปลออกมาน่าขบขัน เป็นเหตุให้เราคิดว่าอย่างไรเสีย เครื่องก็ไม่มีทางเข้าใจและแปลภาษาได้หรอก

ตอนนี้ เหตุการณ์กำลังเปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยี AI คือการใช้เครือข่ายนิวรอลในการแปลและข้อมูลมหาศาลที่ AI ใช้เพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจภาษาต่าง ๆ AI ไม่ได้เพียงแค่สามารถแปลข้ามภาษา แต่จากตัวอย่างการทดลองใช้ AI ในหลาย ๆ ที่ ทำให้เราเห็นว่า AI สามารถแปลหรือแปลงสไตล์การเขียนในภาษานั้น ๆ ได้. สามารถเขียนเรื่องเดียวกันด้วยภาษาที่คล้ายกับนักเขียนแต่ละคนได้ [1]

มีหลายเรื่องที่เราควรรู้ ปรับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเห็นภาพผลกระทบของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา

1. MT แปลได้เฉพาะงานทั่วไป งานง่าย ๆ งานยาก ๆ เช่น งานแปลวรรณกรรมนั้นไม่มีทางที่จะแปลได้ดีเหมือนนักแปลจริงๆ
แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นแบบนี้ แต่เราไม่ควรลืมว่า ธุรกิจการแปลที่ผ่านมา งานส่วนใหญ่แล้วเป็นการแปลเอกสารทั่วไป ไม่ใช่การแปลวรรณกรรม หาก MT แปลงานได้ในระดับที่ยอมรับใช้การได้ ความต้องการนักแปลอาชีพจะยังคงมีมากเท่าเดิมหรือไม่

2. MT ถึงอย่างไรก็แปลภาษาไม่เป็นธรรมชาติ แปลบทกวี หรือเขียนบทแปลให้สละสลวยไม่ได้
งานแปลที่เราได้มาจากการแปลขั้นเดียวเป็นการแปลเอาความ ภาษาอาจไม่เป็นธรรมชาติ แต่จากตัวอย่างการใช้ AI แปลงสไตล์การเขียนจากแบบหนึ่งเป็นอีกแบบหนึ่ง. ตัวอย่างการแปลกวีนิพนธ์จีน [2] โดยการแปลสองขั้นตอนคือแปลภาษาเอาความ แล้วแปลภาษาเป็นภาษาแบบกวี ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ MT จะแปลงานให้เป็นภาษาที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นหรือเป็นภาษาเฉพาะทางที่ต้องการ

3. ในขณะที่เราคุ้นเคยกับการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ความก้าวหน้าของ AI เป็นแบบทวีคูณ เราคาดได้ว่าจะเห็นความก้าวหน้าทางภาษาของ AI จะเพิ่มมากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกปี เหมือนที่เราเริ่มเห็น GPT-3 ที่เก่งกว่า GPT-2 อย่างน่าตกใจภายในปีเดียว ดังนั้น MT จะแปลงานได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีการแปลที่แย่ลงหรือคงที่

4. ถึง AI จะทำงานด้านต่าง ๆ ของภาษาได้ดีขึ้นก็จริง แต่ AI ไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งได้เหมือนมนุษย์ AI อาจจะแปลงานได้ดีใช้งานได้ เขียนความเรียงได้เป็นเรื่องเป็นราว สรุปใจความสำคัญในเอกสารออกมาให้ได้ แต่มันไม่มีความเข้าใจอะไรเลยในสิ่งที่ทำ เป็นงานภาษาที่ lifeless
แม้ว่าจะเป็นจริงตามนี้ และอาจเป็นจริงอีกนาน แต่ความไม่เข้าใจในเนื้อหาไม่ได้ทำให้ AI ด้อยคุณค่าลง เพราะคนที่ต้องการและเข้าใจความหมายคือคนที่ใช้. AI เป็นเหมือนเครื่องมือช่วยในการทำงานต่างๆ ด้านภาษา เหมือนเครื่องคำนวณที่ไม่ต้องเข้าใจว่าคำนวณอะไรเพื่ออะไร แต่ขอให้คำนวณมาแล้วถูกต้องตามที่คนต้องการ ณ ตอนนี้ เพียงแค่ AI ทำงานภาษาได้ตามที่เราต้องการ งานจำนวนมากที่คนเคยต้องทำเองและใช้เพียงความสามารถพื้นฐาน งานแปลงานล่ามแบบง่าย งานธุรการเอกสารทั่วไป ก็จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องได้ในไม่ช้า

คำถามที่สำคัญและหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วอนาคตของตนเองจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอาจารย์สอนภาษาต่างประเทศ สอนการแปล แน่นอนว่าการวางจำหน่ายหูฟังช่วยแปลหรือการใช้ app ทำงานแปลหรือล่ามจะเข้ามามากขึ้น เพราะคุณภาพการทำงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในสายตาคนทั่วไป ก็จะมีความรู้สึกว่า ภาษาต่างประเทศนั้นคงไม่จำเป็นต้องเรียนกันอีกแล้ว เรียนไปก็อาจจะตกงาน เพราะเครื่องทำได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ คือการเรียนทางอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทักษะภาษาเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ ตลอดจนวรรณกรรมของแต่ละเชื้อชาติ และการรู้จักวิเคราะห์วิพากษ์ ยังเป็นฐานความรู้สำคัญสำหรับความสำเร็จในการงานด้านมนุษยศาสตร์อยู่

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า อาจารย์สอนภาษาต่างประเทศจะยังคงทำตัวเหมือนเดิมได้ แม้สังคมยังต้องการคนที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศขั้นสูง แต่อาจไม่ได้ต้องการคนรู้ภาษาต่างประเทศพื้นฐานมากเหมือนเดิม คนที่จะเรียนภาษาต่างประเทศเป็นวิชาเอกจะลดจำนวนลงอย่างมาก คนที่ยังเรียนอยู่ก็ต้องเรียนให้เก่งกว่าเดิมที่เคยเป็นกันมาและสามารถเข้าใจและใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำงานของตนได้ การที่จะเรียนได้เก่งมากขึ้นนี้ย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ที่ใช้มาเมื่อ 10 ปีก่อน อาจารย์เองจึงมีบทบาทที่ต้องปรับตัวเองอยู่มากเช่นกัน

การใช้เวลาในชั้นเรียนเพื่อฝึกทักษะภาษาอาจไม่จำเป็นเหมือนในอดีต นักเรียนสามารถฝึกทักษะภาษาเองได้ด้วยการใช้สื่อและเครื่องมือต่าง ๆ มากมายที่มีในปัจจุบัน ความสามารถทางภาษาของ AI ด้านต่าง ๆ ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน การทำกิจกรม โครงงานต่าง ๆ อาจารย์จำเป็นต้องแนะนำและดูให้นักเรียนเรียนรู้และแก้ปัญหาที่กำหนด เพราะงานข้างหน้าหรือสิ่งที่นักเรียนจะได้พบเห็นอาจจะไม่ใช่อะไรที่เคยเห็นหรือเรียนในชั้นเรียน เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การคาดหวังว่าจะยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมที่คุ้นเคยนั้นเป็นเพียงฝันกลางฤดูฝน ตอนนี้ มีทางเลือกเพียงสองทางคือ ปรับให้พร้อม หรือ ยอมให้ปรับ

Notes
[1] GPT-3 หนทางสู่ AGI?

[2] GPT-3 on Chinese poetry translation

--

--

No responses yet