ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : Arrival (2016)

Wirote Aroonmanakun
3 min readMay 3, 2020

--

เมื่อนึกถึงหนังสำหรับแนะนำให้คนที่สนใจภาษาศาสตร์ เรื่องแรกที่นึกถึงคือ Arrival ไม่ใช่เพียงเพราะตัวเอกเป็นอาจารย์สอนภาษาศาสตร์ แต่แก่นสำคัญของเรื่องเกี่ยวข้องกับการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกด้วยภาษาต่างดาว และความสัมพันธ์ของภาษา ความคิด และปริชาน

The movie

หนังเริ่มต้นด้วยการฉายภาพความผูกพันของแม่ลูกคู่หนึ่งในช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ดาราที่เล่นเป็นแม่และเป็นตัวละครนำของเรื่องคือ Amy Adam แสดงเป็น Dr. Louise Banks อาจารย์สอนภาษาศาสตร์ จากนั้นจึงเริ่มเล่าเรื่องโดยว่า เรื่องราวนี้เริ่มต้นในวันที่ยาน UFO 12 ลำมาลอยลำอยู่เหนือสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก Dr.Banks ถูกเรียกตัวไปอยู่ในทีมเพื่อที่จะเจรจาสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวนี้

นายทหารที่เข้ามาติดต่อ Dr.Banks ก็เหมือนคนทั่วไปที่เข้าใจว่านักภาษาศาสตร์คือผู้ที่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับภาษา เขามาพร้อมกับเทปบันทึกเสียงพูดต่างดาวเพื่อให้ช่วยแปล แน่นอนว่า นักภาษาศาสตร์คนไหนก็ไม่สามารถตอบได้ว่าคืออะไร ไม่รู้จะวิเคราะห์อะไร ถ้าไม่รู้บริบทและความหมายของสิ่งที่พูด และที่ยากกว่านั้น เมื่อเสียงที่ได้ยินไม่ใช่เสียงที่เปล่งออกจากการใช้อวัยวะในการออกเสียง (vocal tract) แบบเดียวกับมนุษย์ จึงไม่ใช่เสียงอะไรที่เราคุ้นเคยเลย หรืออาจมีเสียงที่เราไม่สามารถได้ยินก็ได้

Dr.Banks อยู่ในทีมร่วมกับ Dr.Ian Donnelly นักฟิสิกส์ ทีมสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวนี้จึงมีทั้งนักภาษาศาสตร์และนักฟิสิกส์ เพราะหวังว่านอกจากภาษา ฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ควรเป็นความรู้ที่สิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสามารถเข้าใจร่วมกันได้ แต่ในหนังจะเน้นให้เห็นเฉพาะแง่มุมการสื่อสารทางภาษาเป็นหลัก

ที่ค่ายทหารทางฝั่งอเมริกา พวกเขาได้พบสิ่งมีชีวิตสองตน รูปร่างสูงใหญ่เหมือนปลาหมึกยักษ์เดินเจ็ดขา แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นขาหรือแขนหรือขาหน้าขาหลังเพราะทุกอย่างดูสมมาตรไปหมด เขาเรียกผู้มาเยือนนี้ว่า heptapods ค่ายทหารอื่น ๆ อีกสิบเอ็ดค่ายทั่วโลก ต่างก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามสื่อสารกับ heptapods เพื่อจะหาคำตอบร่วมกันว่าพวกเขามาที่โลกนี้เพื่ออะไร และที่สำคัญคือจะเป็นภัยอันตรายต่อมนุษยชาติหรือไม่ ความหวาดกลัวต่อสิ่งที่เราไม่รู้จักเป็นเรื่องปกติ และยิ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์ของมนุษย์เอง เมื่อใดก็ตามที่เผ่าพันธุ์ที่มีวิทยาการสูงกว่ามาพบกับเผ่าพันธุ์ที่ด้อยวิทยาการกว่า จะมีการกวาดล้างทำลายอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งอยู่เสมอ

การสื่อสารด้วยภาษาพูดไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอวัยวะที่มนุษย์และ heptapodsใช้เปล่งเสียงนั้นต่างกันมาก แม้จะนำคลื่นเสียงมาเข้าเครื่อง sound spectrograph เพื่อวิเคราะห์คลื่นเสียง ก็ยากที่มองหาหน่วยทางเสียงได้ชัดเจน Dr.Banks จึงหันไปลองใช้ภาษาเขียนแทน แลกเปลี่ยนการสื่อสารด้วยการเรียนรู้คำพื้นฐานด้วยการเขียนคำอังกฤษ และก็พบว่า heptapods สร้างตัวเขียนด้วยการพ่นของเหลวเหมือนน้ำหมึกมาเรียงเป็นรูปวงกลม ซึ่งต่อมา Dr.Banks ก็พบว่าภาษาเขียนและภาษาพูดของ heptapods นั้นแยกขาดจากกัน

ภาษาเขียนของ heptapods เป็นแบบ semasiographic คือเป็นภาษาเขียนด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับเสียงพูดเลย และภาษาเขียน heptapods ไม่มีส่วนหน้าส่วนหลัง เป็นภาพกราฟิกทรงกลมที่มีรายละเอียดของขนาดและรูปเส้นรอบวงต่าง ๆ กัน ต้องศึกษาจากภาพที่ถ่ายมาได้นี้แล้วมาโยงกับความหมายที่ต้องการสื่อ ทรงกลมแทนได้ทั้งคำ วลี ประโยค และประโยคซับซ้อน สิ่งหนึ่งที่อนุมานได้คือรูปทรงกลมมีลักษณะที่เป็น compositional เพราะในหนังจะเห็นมีการวิเคราะห์แยกส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นความหมาย คล้ายกับที่วิเคราะห์ภาษามนุษย์โดยแยกองค์ประกอบจากประโยคเป็นวลี เป็นคำ เป็นหน่วยคำได้

https://www.imdb.com/title/tt2543164/mediaindex?page=4&ref_=ttmi_mi_sm

ในระหว่างการทำงานเพื่อวิเคราะห์ภาษาของ heptapods นั้น เราจะเห็นเหมือน Dr.Banks มีภาพความทรงจำในอนาคตผุดเข้ามาเป็นระยะ เห็นภาพการพูดคุยกับลูกสาวในวาระต่าง ๆ ผุดมาในหัวอยู่เนือง ๆ สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้ จากการที่ Dr.Banks ค่อย ๆ เรียนรู้ภาษา heptapods เธอก็เริ่มประสบกับการผุดขึ้นของความทรงจำในอนาคต เพราะภาษา heptapods ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเวลาเหมือนภาษามนุษย์ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าการรับรู้โลกภายนอกของ heptapods ไม่ได้ถูกยึดโยงด้วยลำดับเวลาเหมือนมนุษย์ heptapods รับรู้ทั้งอดีตปัจจุบันและอนาคตไปพร้อมกันได้ไม่มีลำดับของเวลาจากอดีตไปสู่อนาคต ภาษาพวก heptapods จึงมีลักษณะแบบนี้ด้วย คือไม่มีการเรียงลำดับหน่วย เขียนเป็นประโยคซับซ้อนหรือคำก็เขียนออกมาพร้อมกันทีเดียวเป็นทรงกลมที่มีลักษณะต่าง ๆ

หนังยังมีบทสนทนาระหว่าง Dr.Banks และ Dr.Donnelly ที่พูดถึง Sapir-Whorf hypothesis [1] หรือสมมติฐานที่ว่าภาษามีอิทธิพลต่อความคิดและวิธีมองโลกของมนุษย์ คนที่พูดภาษาต่างกันจึงมีโลกทัศน์ที่ต่างกันได้ หนังจึงนำประเด็นนี้มาใช้เพื่ออธิบายว่าทำไม Dr.Banks จึงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ เพราะผลของการเรียนรู้ภาษาของ heptapods นี่เองที่ทำให้ Dr.Banks มีการรับรู้โลกที่ต่างจากเดิม เหมือนเซลล์สมองมีการจัดเรียงตัวใหม่ ทำให้สามารถรับรู้โลกที่ไม่ถูกจำกัดด้วยมิติของเวลาได้

หนังเริ่มแสดงให้เห็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้น จากความไม่รู้และความหวาดกลัวอารยธรรมที่เหนือกว่า ในการพยายามสื่อสารว่าทำไม heptapods จึงมาที่โลกนี้ มีการแปลความว่า “offer weapons” และ “use weapon” ทั้งจากทีมอเมริกาและทีมนักวิทยาศาสตร์จีนเอง ทำให้มีความเข้าใจว่าพวก heptapods ต้องการให้มนุษย์ทั้งสิบสองที่นั้น รับความรู้ไปห้ำหั่นกลุ่มอื่น ๆ จนเหลือผู้ชนะกลุ่มเดียว (เหมือนประวัติศาสตร์ที่ชาวตะวันตกแต่ละชาติเมื่อมายังดินแดนแถบอเมริกาก็หนุนให้ชาวพื้นเมืองแต่ละเผ่าสู้รบกันภายใต้การสนับสนุนจากแต่ละชาติ) นายพลเจียงผู้นำจีนจึงตัดสินใจจะใช้กำลังทหารขับไล่ยานต่างดาวนี้ และเชิญชวนชาติอื่น ๆ ให้ร่วมโจมตีพร้อมกันด้วย

ในขณะที่ Dr.Banks เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมพวก heptapods มาที่โลกนี้ ในการพบกันครั้งสุดท้ายที่ Dr.Banks สื่อสารกับ heptapods คำพูดที่ได้มาคือ “Louise had weapon” และ “use weapon” ซึ่งในที่สุด เธอก็เข้าใจว่า การรู้ภาษา heptapods เป็นเหมือนอาวุธหรือเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา และภาพในอนาคตก็ผุดขึ้นมาในหัวเธอ เธอได้ตีพิมพ์หนังสือ Universal Language ที่พูดถึงภาษาของ heptapods และยังเห็นภาพตัวเองพบนายพลเจียงในงานเลี้ยง และได้สนทนาถึงเหตุการณ์ในอดีตวันนั้น วันที่เธอโทรศัพท์มาที่หมายเลขลับของนายพลเจียงและพูดประโยคที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนใจระงับการโจมตียานต่างดาวนี้

หนังเดินเรื่องไม่ซับซ้อนและให้คำอธิบายไว้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับบทเขียนเดิมในเรื่องสั้น “Story of Your Life” ที่เขียนโดย Ted Chiang แม้แต่สาเหตุการมาเยือนของ heptapods ก็อธิบายไว้ในหนังว่า heptapods มาช่วยมนุษย์ เพราะในอีก 3,000 ปีต่อมา heptapods ต้องให้มนุษย์ช่วย ในขณะที่หนังสือไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้เลย หนังจึงเข้าใจได้ไม่ยาก เดินเรื่องไปได้อย่างน่าตื่นเต้น ติดตามไปจนจบ เป็นหนังที่ทำให้คนรู้จักภาษาศาสตร์ขึ้นได้บ้าง ได้เห็นเรื่องอิทธิพลของภาษากับความคิด เห็นความสามารถของนักภาษาศาสตร์ในการวิเคราะห์ภาษา มีบทสนทนาที่ Dr.Donnelly ชื่มชม Dr.Banks ว่าแก้ปัญหาวิเคราะห์ภาษาได้เหมือนแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ และกล่าวชื่นชมความสามารถในการสื่อสารอธิบายความของเธอ ก่อนที่จะมองว่าตัวเองยังเป็นโสดเพราะเป็นนักฟิสิกส์ที่ไม่มีทักษะทางภาษา แต่ Dr.Banks ก็ตอบได้น่าสนใจว่า “Trust me, you can understand communication and still end up single.” ซึ่งนักภาษาศาสตร์หลายคนก็คงเห็นด้วยว่าจริง

หนังมีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับชื่อลูกสาวของ Dr.Banks กับ Dr.Donnelly ที่ชื่อ Hannah ชื่อนี้มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น palindome คือมีสมมาตรหน้าหลัง ไม่ว่าจะสะกดจากหน้ามาหลังหรือหลังมาหน้าก็จะได้คำเดียวกัน เหมือนภาษา heptapods ที่เป็นทรงกลมต่อเนื่องไม่มีหน้าหลัง

คำอีกคำหนึ่งที่เป็นที่รู้จักจากหนังเรื่องนี้ คือ xenolinguistics เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ของต่างดาว แน่นอนว่าในปัจจุบันยังไม่มีกรณีที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นให้ขบคิดได้ว่า ถ้าวันนั้นมาถึง ความรู้ทางภาษาศาสตร์ที่เรามีอยู่จะช่วยให้เราเข้าใจ เรียนรู้ และสื่อสารกับชีวิตต่างดาวได้มากน้อยแค่ไหน บางมหาวิทยาลัยถึงกับมีการเปิดรายวิชาชื่อ Extraterrestrial Language [2]

การสร้างหนังที่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์มาก ๆ นี้ หนีไม่พ้นการมีที่ปรึกษาเป็นนักภาษาศาสตร์ ซึ่งในหนังเรื่องนี้ได้ให้ Jessica Coon อาจารย์ภาษาศาสตร์ที่ McGill University เป็นที่ปรึกษาให้ [3]

The novel

หนังสร้างโดยดัดแปลงบทจากเรื่องสั้น “Story of Your Life” เขียนโดย Ted Chiang นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ หนังมีความแตกต่างจากหนังสืออยู่หลายส่วนมาก ชื่อตัวเอกชายในหนังสือ เป็น Dr.Gary Donnelly ไม่ใช่ Dr.Ian Donnelly ลูกสาวของทั้งคู่ตายก่อนวัยอันควร แต่ด้วยคนละสาเหตุในหนังให้เป็นโรคที่หายาก ในหนังสือตายจากอุบัติเหตุการปีนเขา จำนวนยานต่างดาวที่มาจอดที่โลกในหนังสือก็มีกว่าพันแห่งทั่วโลก แต่ในหนังให้มีสิบสองแห่ง

หนังสือให้รายละเอียดการเก็บข้อมูลภาษาและวิธีการทำความเข้าใจภาษาต่างดาวได้ละเอียดกว่าในหนัง มีการใช้ภาษาพูดเพื่อช่วยให้เข้าใจภาษาเขียนเพราะภาษาพูดมีเสียงที่แทนคำต่าง ๆ เมื่อพูดประโยคต่างกัน เช่น ต่างประธาน ต่างกรรม ต่างกริยา ก็จะเห็นส่วนที่ต่างของภาษาพูดในภาพจากเครื่อง spectrograph นั้น ในขณะที่ภาษาเขียนเป็นภาพอยู่ในรูปทรงกลมหมด แต่ก็มีความต่างที่ต้องเทียบเพื่อที่จะรู้ว่าส่วนต่างปรากฏเป็นรูปทรงที่ต่างกันอย่างไรบ้าง ทำให้ค่อย ๆ เห็นกราฟิกของส่วนที่เป็นหน่วยความหมายต่าง ๆ ได้

ในหนังสือ Dr.Banks ใช้เวลาอยู่พอสมควรจนเข้าใจว่าภาษาเขียนของ heptapods เป็น semasiographic คือภาษาเชียนเป็นอีกภาษาที่ไม่เกี่ยวกับภาษาพูดเลย ไม่ใช่ภาษาที่เป็น logogram แบบที่เข้าใจแต่แรก (ใน logogram ภาษาเขียนเป็นสัญลักษณ์แต่ก็ยังใช้แทนคำในภาษาพูด) มีไวยากรณ์การเขียนต่างหาก ที่บอกถึง visual syntax เอง ในแง่หนึ่ง พวก heptapods คงประหลาดใจว่า ทำไมมนุษย์ต้องสร้างภาษาเขียนมาแทนภาษาพูดให้ซ้ำซ้อนกันอีก ทำให้ต้องเสียอีก channel หนึ่งของการสื่อสารไป แทนที่จะมีสอง channel ใช้ในการสื่อสารเหมือนพวกเขา

การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาทีหลัง หลังจากที่นักภาษาศาสตร์สามารถเข้าใจภาษา heptapods ได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่การสื่อสารทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงต้น เหมือนหลักการที่มนุษย์คิดว่าง่ายและพยายามแสดงต่อ heptapods กลับเป็นอะไรที่ซับซ้อนสำหรับพวกเขา การคุยกันทางฟิสิกส์มามี breakthrough หรือก้าวกระโดดเมื่อเอาเรื่อง Fermat’s principle of least time [4] ขึ้นมา พวก Heptapods ก็เข้าใจทันทีว่าต้องการสื่ออะไร

Fermat’s principle ใช้อธิบายเรื่องการเคลื่อนที่ของแสงผ่านอากาศและน้ำ จุดต้นทางและปลายทางจะไม่ใช่เส้นตรงแต่เป็นเส้นหักมุมแบบที่เราเห็นแท่งดินสองอในน้ำ คำอธิบายคือ ถ้าแสงเดินทางเป็นเส้นตรงจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุดผ่านอากาศและน้ำจะใช้เวลามากกว่า เส้นเฉียงหักมุมที่เห็นเป็นทางที่แสงใช้เวลาน้อยสุด น้อยกว่าเส้นตรงหรือเส้นเฉียงหักมุมอื่น ๆ ความน่าสนใจตรงนี้อยู่ที่ว่า การที่แสงเลือกทางเดินที่ใช้เวลาน้อยสุดได้ หมายถึงแสงต้องรู้ทุกเส้นทางที่เป็นไปได้แล้วจึงเทียบหาเส้นทางที่ extreme สุดได้ คือต้องเห็นภาพทั้งหมดจากจุดตั้งต้นและสิ้นสุด ไม่ได้เป็นลำดับเหมือนเดินทางมาจนถึงผิวน้ำแล้วจึงหักเหเพราะผ่านผิวน้ำ

สำหรับมนุษย์ หลักการแบบ Fermat นี้ไม่ใช่หลักพื้นฐานที่เรามองหรือเข้าใจโลก เพราะเราจะมองภาพและอธิบายแบบที่เห็น cause กับ effect ได้เข้าใจง่ายกว่า แต่สำหรับ heptapods หลักการแบบ Fermat เป็นอะไรที่เป็นพื้นฐานและเข้าใจง่ายกว่ามองแบบ cause-effect ทำให้อธิบายได้ว่า ในตอนแรกที่นักฟิสิกส์พยายามสื่อสารกฎทางฟิสิกส์ผ่านเรื่องความเร็ว อัตราเร่ง ทำไม heptapods จึงเข้าใจได้ยาก แต่กับหลักการทางฟิสิกส์ที่เป็นแบบ variational principles อย่าง Fermat’s principle กลับเป็นที่เข้าใจง่ายของ heptapods

ความแตกต่างของการรับรู้โลกและการพยายามหาคำอธิบาย ทำให้สูตรและวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่มนุษย์และ heptapods ใช้แตกต่างกัน แต่หลังจากที่พบ breakthrough ความต่างนี้แล้ว การแลกเปลี่ยนความรู้กันก็ง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีการคณิตศาสตร์ต่างกัน แต่ฟิสิกส์ที่อธิบายคือเรื่องเดียวกัน

การนำเสนอเรื่องความต่างจากด้านฟิสิกส์ที่นำเสนอในหนังสือแต่ขาดหายไปในหนัง ช่วยย้ำความต่างเรื่องโลกทัศน์ของ heptapods และอธิบายทำไมภาษาเขียน heptapod จึงมีลักษณะเหมือนเขียนขึ้นมาพร้อมกันทั้งภาพ ไม่ใช่การเขียนแบบวาดทรงกลมประกอบทีละเส้นทีละส่วน ทำให้เห็นความต่างระหว่างมนุษย์กับ heptapods ที่มนุษย์พัฒนา consciousness แบบ sequential ในขณะที่ heptapods มี consciousness แบบ simultaneous เหตุก็น่าจะมาจากการที่มีระบบปริชานรับรู้และเข้าใจโลกภายนอกต่างกัน ทำให้ระบบภาษาต่างกันแบบที่เห็น

หนังสือกล่าวถึงอิทธิพลของการเรียนรู้ภาษาเขียน heptapods ที่มีต่อ Dr.Banks ทำให้วิธีคิดของเธอเปลี่ยนไป สิ่งที่เป็น internal voice เวลาคิดในใจ เดิมเคยเป็นภาษาแบบภาษาพูด ก็เริ่มคิดแบบภาษาภาพของ heptapods ไม่มีต้นสายไม่มีปลายเหตุ แต่ภาพความคิดทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดของ Sapir-Whorf hypothesis แต่ในหนังสือไม่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรงเหมือนในหนัง

ในหนังสือ Dr.Banks ก็ยังถูกจำกัดด้วยระบบปริชานแบบเดิมไม่ได้มีความสามารถแบบเห็นอนาคตได้เหมือนในหนัง ในหนังสือมีการเดินเรื่องสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์การมาเยือนของ heptapods กับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก เหมือนมีสองเรื่องเล่าสลับกัน แยกกันชัดเจนในช่วงแรก แต่ช่วงหลังเรื่องเล่าเริ่มเขียนติดกันเป็นตัวบทต่อเนื่อง สิ่งที่ภาษา heptapods มีต่อเธอ จึงเป็นเรื่องความทรงจำที่ทำให้นึกภาพทั้งอดีตช่วงต่างๆ โดยไม่เรียงลำดับตามเวลา เหมือนนึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ มาพร้อมกัน ซึ่งคนอ่านค่อย ๆ รับรู้จากการอ่านเรื่องสลับไปมาจนเหมือนเป็นเนื้อเดียวในท้ายสุด

ในหนังสือไม่มีแม้แต่เหตุผลว่าทำไม heptapods จึงมาเยือน และทำไมจึงไป มาวันหนึ่ง ยานทั้งหมดก็จากไป ไม่มีการมาให้ความรู้วิทยาการอะไรใหม่แก่มนุษย์ หนังสือจึงจบลงแบบงง ๆ สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีวันเข้าใจในวิธีคิดและการกระทำของ heptapods แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างหนังและหนังสือคือการนำเสนอประเด็นว่า หากเรามีการรับรู้โลกแบบ heptapods คือเห็นทั้งเหตุการณ์ว่าเริ่มและจบอย่างไรแล้ว เราจะยังมี free will ไหม เหมือนอย่างที่ Dr.Banks รู้ว่าลูกสาวตัวเองต้องตายก่อนวัยอันควร แล้วเธอจะตัดสินใจไม่เลือกเส้นทางแบบนั้นได้ไหม ถ้าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องมีอะไร เกิดอะไร เป็นอย่างไร คนเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เพื่ออะไร ความหมายของการมีชีวิตคืออะไร

หนังและหนังสือไม่ได้ให้คำตอบ แต่ชวนให้คนดูคนอ่านได้ขบคิดต่อ หากเหตุการณ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามแบบที่ต้องเป็นไป หากเรารับรู้โลกเหมือนพวก heptapods รู้ว่าเราจะอยู่ได้ถึงเมื่อไร และเส้นทางชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เมื่อเราเข้าใจว่าชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง เราก็คงไม่ดิ้นรนเปลี่ยนแปลงอะไร แต่จะใช้เวลาเท่าที่มีรับรู้หรือซึมซับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา เพราะการเป็นใคร ทำงานอะไร อยู่ได้นานแค่ไหน คงไม่สำคัญมากเท่ากับว่าเราได้เรียนรู้เข้าใจและใช้ชีวิตที่มีอยู่นั้นอย่างไร

--

--

No responses yet