ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : My Fair Lady (1964)

Wirote Aroonmanakun
3 min readMay 26, 2020

--

สำหรับนักภาษาศาสตร์ หนังอีกเรื่องที่ควรจะต้องรู้จัก คือ My Fair Lady เป็นหนังแบบ musical ที่มีเพลงไพเราะหลายเพลง นำแสดงโดย Audrey Hepburn และ Rex Harrison. Audrey Hepburn แสดงเป็น Eliza Doolittle ส่วน Rex Harrison รับบทเป็น Prof.Henry Higgins ศาสตราจารย์ด้านสัทศาสตร์หรือ Phonetics

หนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ Eliza หญิงขายดอกไม้ริมทางเป็นสุภาพสตรีชนชั้นสูง ด้วยการสอนให้เธอเปลี่ยนจากการพูดด้วยสำเนียงอังกฤษแบบ Cockney ซึ่งเป็นสำเนียงของชาวบ้านท้องตลาด มาพูดด้วยสำเนียงผู้ดีอังกฤษ (Received Pronunciation หรือ RP) หนังเริ่มต้นที่เขต Covent Garden ในกรุงลอนดอน ด้วยการเผยให้เห็นความสามารถของ Prof.Higgins ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้าน Phonetics ที่แอบเก็บข้อมูลจดบันทึกเสียงต่าง ๆ ที่ผู้คนพูดคุยกันตามท้องถนน เขาสามารถบอกได้ว่าใครมาจากท้องถิ่นไหน หรือแม้กระทั่งระบุถึงถนนถิ่นที่อยู่ของคนนั้นได้เลย ในฉากนี้ Prof.Higgins ได้พบกับพันเอก Pickering ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตซึ่งตั้งใจเดินทางมาพบ Prof.Higgins พอดี ในฉากนี้ Prof.Higgins ยังโอ้อวดถึงความรู้ทางสัทศาสตร์ว่าเขาสามารถเปลี่ยนผู้หญิงขายดอกไม้ริมทางไปเป็นดัชเชส (duchess) ได้ภายในหกเดือน หรือให้ไปทำงานในร้านขายดอกไม้ได้หากสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้ถูกต้อง

ฉากที่สอง Eliza ติดใจที่ Prof.Higgins พูดว่าสามารถทำให้ตนพูดภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและทำงานในร้านขายดอกไม้ได้ จึงเดินทางมาพบเพื่อว่าจ้างให้ Prof.Higgins สอนตน จึงเป็นที่มาของการพนันระหว่าง Prof.Higgins กับพันเอก Pickering ว่าจะสามารถทำให้ Eliza ไปเข้าสังคมชนชั้นสูงไปร่วมงานเลี้ยงในวังโดยไม่ถูกใครจับได้ว่าไม่ใช่ชนชั้นสูงภายในหกเดือนได้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่มาของการปั้นดินให้เป็นดาว

สิ่งที่เห็นในหนังคือการฝึกการออกเสียงเพื่อแก้ปัญหาเสียงที่เพี้ยนจากมาตรฐาน ใน Cockney dialect ไม่ออกเสียงพ่นลม /h/ และมีการเลื่อนของเสียงสระ ตัวอย่างเช่นเมื่อออกเสียงคำ day จะไปคล้ายกับคำว่า die แทน ในหนังเราจึงเห็นการฝึกเพื่อแก้ปัญหาการออกเสียงโดยใช้อุปกรณ์ที่ให้ลมพ่นออกมาไปทำให้เปลวไฟสว่างวาบขึ้น และฝึกออกเสียง “In Hertford, Hereford, and Hampshire, hurricanes hardly ever happen” เพื่อแก้ปัญหาเสียง /h/ และการฝึกออกเสียงประโยค “The rain in Spain stays mainly in the plain.” เพื่อแก้ปัญหาเสียงสระที่เพี้ยนไป ความจริง ความต่างของการออกเสียงระหว่าง Cockney กับ RP ยังมีมากกว่านี้ แต่ในหนังจะเน้นเฉพาะตัวอย่างที่ยกมาเพื่อให้เห็นการฝึกอ่านออกเสียงใหม่ให้ได้ตรงตามสำเนียง RP

หลังจากแก้ปัญหาการออกเสียงได้แล้ว ก่อนจะพา Eliza ไปออกงานจริง Prof.Higgins เลือกพาเธอไปงานแข่งม้าของชนชั้นสูง ในงาน Eliza ระมัดระวังในการพูดจา ผู้คนไม่เห็นความต่างของสำเนียง แต่ปัญหาของเธออยู่ที่การพูดเล่าเรื่องซึ่งทำให้เห็นถึงสแลงเฉพาะที่ชนชั้นสูงไม่เข้าใจอย่าง “done her in” เมื่อพูดถึงป้าที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ และการเผลอตัวเชียร์ม้าแข่งด้วยภาษาตลาด ฉากนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Pretty Woman ที่ Julia Roberts ก็ทำอะไรแบบนี้ อย่างไรก็ดี ความแปลกไม่เหมือนใครของเธอทำให้หนุ่มผู้ดีอังกฤษอย่าง Freddy ตกหลุมรักเธอและมาคอยเฝ้าเมียงมองอยู่หน้าบ้านหลังจากนั้นและมีเพลงไพเราะอย่าง On the street where you live.

ในวันงานจริงที่เป็นงานเลี้ยงเต้นรำของสถานทูตที่เต็มไปด้วยแขกชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ Eliza ดูเฉิดฉายและสวยสง่ากว่าใครในงาน เธอสามารถเข้าสังคมได้ดี และได้เป็นคู่เต้นรำเปิดเวทีของเจ้าชายแห่งทรานซิลวาเนีย ในงานมีลูกศิษย์ของ Prof.Higgins ที่เชี่ยวชาญสัทศาสตร์และถูกมอบหมายให้สืบว่า Eliza คือใคร ท้ายสุดเขาสรุปว่า Eliza ไม่ใช่ native English เพราะเธอพูดภาษาอังกฤษดีเกินไป เลยสรุปว่าเธอต้องได้รับการศึกษาภาษาอังกฤษจากครูที่สอนมาอย่างดี และด้วยบุคลิกภาพที่ดีจึงทำให้คิดว่าเธอเป็นเจ้าหญิงจากฮังการี

หลังจบงานในวันนั้น ทั้ง Prof.Higgins และพันเอก Pickering ต่างก็ยินดีในความสำเร็จของการทดลองนี้ แต่สำหรับ Eliza เธอต้องเผชิญกับความรู้สึกอีกอย่าง เมื่อเสร็จสิ้นกิจนี้แล้ว เธอคือใคร เธอจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นหญิงเร่ขายดอกไม้ริมทางก็ไม่ได้ จะเป็นชนชั้นสูงก็ไม่ใช่ แล้วเส้นทางอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไร แต่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกเธอแม้แต่ Prof.Higgins

สำหรับ Prof.Higgins และพันเอก Pickering ทั้งหมดเป็นเพียงเกมเดิมพันว่าจะหลอกชนชั้นสูงคนอื่นได้ไหม และเขาก็ทำได้สำเร็จ ไม่มีใครสงสัยว่า Eliza ไม่ใช่พวกเดียวกับตน Thanks God it’s all over! นั่นคือสิ่งที่ทั้งคู่รู้สึก แต่สำหรับ Eliza เธอไม่รู้ว่าจุดจบนี้จะนำไปสู่อะไร แม้เธอพยายามบอกเขาถึงความกังวลใจนี้ เขาก็คิดว่าเป็นแค่ความไม่แน่ใจในอนาคตเล็กน้อย สำหรับเขา ทุกอย่างดูง่ายไปหมด ตอนนี้ Eliza ก็มีอิสระที่จะไปทำอะไรก็ได้ แม้แต่จะแต่งงานกับผู้ชายสักคนเพราะเธอเองก็เป็นคนหน้าตาดี จน Eliza ต้องตอบว่า เธอเคยขายดอกไม้มาก่อน แต่เธอไม่เคยขายตัวเองให้ใคร ตอนนี้เขาทำให้เธอเป็นสุภาพสตรีได้แล้ว แต่เธอกลับไม่ที่ที่จะยืน จนแล้วจนรอด Prof.Higgins ก็ไม่เข้าใจความรู้สึกของ Eliza เธอจึงเลือกหนีออกจากบ้านในคืนนั้น

เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า Prof.Higgins จึงเริ่มรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เพราะเคยมี Eliza คอยดูแลเป็นธุระเรื่องนัดหมายเก็บข้าวของเครื่องใช้ให้ แต่เขาก็ยังหยิ่งเกินกว่าจะรับว่าตัวเองต้องการ Eliza ให้อยู่ด้วย ได้แต่กระวนกระวายตามหาเธอ และเมื่อไปที่บ้านแม่ตัวเองก็ได้พบ Eliza สนทนาอยู่กับแม่ของตน ทั้งคู่ดูจะเปิดเผยความรู้สึกลึก ๆ ที่มีให้ต่อกัน Eliza รับไม่ได้กับความหยาบกระด้างที่ Prof.Higgins ไม่แสดงอาการให้เกียรติเธอและยังทำเหมือนเธอเป็นหญิงข้างทางตลอดมา เธอว่าเธอเรียนรู้มารยาทและความเป็นผู้ดีจากพันเอก Pickering เพราะเขาสุภาพต่อเธอเสมอมานับแต่วันแรกที่เธอมาในฐานะหญิงขายดอกไม้ “the difference between a lady and a flower girl is not how she behaves, but how she’s treated” แต่ Prof.Higgins กลับว่าเขาปฏิบัติต่อเธอไม่ต่างจากคนอื่น เพราะเขาไม่เคยพูดดีกับใคร และเขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนเขาได้ Eliza จึงเลือกเดินจากไป แต่ท้ายสุด ด้วยความเป็นหนัง Hollywoodในยุคนั้น หนังจึงจบด้วยการที่เมื่อ Prof.Higgins กลับไปยังบ้านตนเองอย่างเดียวดาย นั่งฟังเสียง Eliza ที่บันทึกไว้ช่วงที่มาใหม่ ๆ จากเครื่อง phonograph ทันใดนั้น Eliza ก็เข้ามา และพูดประโยคเดียวกับที่เมื่อครั้งที่มาบ้าน Prof.Higgins ครั้งแรก “I washed my face and hands before I come” แล้ว Prof.Higgins ก็พูดว่า “Where the devil are my slippers?” และเอนกายนอนลงพร้อมเอาหมวกปิดหน้า เป็นฉากจบแบบ happy ending ที่สะท้อนอุดมการณ์ผู้ชายเป็นใหญ่

หนังได้รางวัลออสการ์ 8 รางวัลในปี 1965 รางวัล Best Picture, Best Actor in a Leading Role, Best Director, Best Cinematography, Best Art Direction-Set Decoration, Best Costume Design, Best Sound, Best Music

Pygmalion

หนังดัดแปลงจากบทละคร Pygmalion ของ George Bernard Shaw [1] ซึ่งเริ่มแสดงเมื่อ 1913 ต่อมามีการดัดแปลงมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง มีหนังชื่อ Pygmalion ในปี 1938 [2] และเป็นละครเพลงในปี 1956 ในชื่อ My Fair Lady ก่อนจะถูกมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพลงชื่อเดียวกันในปี 1964. หนังเรื่อง Pygmalion ในปี 1938 จะใกล้เคียงกับหนัง My Fair Lady (1964) มากกว่าบทละคร แต่เนื้อหาโดยหลักเหมือนกัน ตัวละคร Prof.Higgins ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากนักสัทศาสตร์อังกฤษหลายคน แต่คนที่เป็นหลักคือ Prof.Henry Sweet (1845–1912) Henry Sweet เป็นคนเก่ง แต่เป็นคนเจ้าอารมณ์ พูดจาโผงผาง และมักดูแคลนคนที่ไม่ฉลาด แม้ George Bernard Shaw จะกล่าวในบทนำว่าตัวละครนี้ไม่ใช่ Prof.Henry Sweet จริง ๆ แต่เป็นความประทับใจที่เขามีต่อนักสัทศาสตร์หลาย ๆ คน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพูดจาแบบขวานผ่าซากและความหยิ่งยะโสในความเก่งของตนที่เป็นที่รู้กันของ Prof.Henry Sweet นั้นก็มาเป็นลักษณะนิสัยของ Prof.Higgins ด้วย

หนัง Pygmalion (1938) ให้รายละเอียดในการฝึกเป็นชนชั้นสูงของ Eliza มากกว่า เพราะนอกจากเรื่องภาษา เรื่องทางวัฒนธรรมการแสดงกริยาอาการ แม้แต่การเต้นรำในงานบอลรูม ก็เป็นสิ่งที่ Eliza ต้องเรียนรู้ด้วย ในตอนทดสอบ Eliza ในหนัง Pygmalion Prof.Higgins เลือกทดสอบโดยพาไปที่บ้านแม่ของตนไม่ใช่ไปที่สนามแข่งม้า ซึ่งก็พอดีกับที่แม่เขามีแขกมาเยี่ยม และ Freddy ก็มาและได้สนทนาและตกหลุมรักในความไม่เหมือนใครของ Eliza แต่ตอนจบในหนัง Pygmalion ก็เป็นแบบเดียวกันกับหนัง My Fair Lady เรื่องตอนจบนี้ Bernard Shaw ไม่ต้องการจบแบบที่ทั้ง Eliza และ Prof.Higgins แต่งงานอยู่ร่วมกัน เขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้แต่ก็ไม่อาจขวางคนสร้างที่ต้องการเอาใจผู้ชมส่วนใหญ่ Bernard Shaw เลยมาเขียนบทหลังละครของ Pygmalion เพื่ออธิบายความต่อว่าเหตุการณ์ควรเป็นไปแบบใด ทำไม Eliza จึงไม่สามารถแต่งงานกับ Prof.Higgins และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นได้ [3] ซึ่งบทนี้ก็แทรกอยู่ในท้ายบทละคร Pygmalion ที่เผยแพร่ [1]

บทละคร Pygmalion ของ Shaw ต่างจากหนังทั้งสองเรื่องตรงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกออกเสียงทางสัทศาสตร์หรือการฝึกการเข้าชนชั้นสูง บทละครมีพูดถึงความกังวลของ Prof.Higgins ที่พา Eliza ไปหาแม่ของตนเพื่อให้ช่วยสอนเธอให้รู้ว่าควรพูดอะไร เพราะเขาสอนได้เพียงว่าควรออกเสียงอย่างไร และตัวเขาเองก็ไม่ใช่คนที่เข้าสังคมกับใครได้ อันที่จริง การฝึกออกเสียงดูจะไม่ใช่ปัญหาเลยเพราะในบทละครพูดถึง Eliza ว่ามีทักษะการฟังที่ดีเยี่ยมสามารถเรียนรู้การพูดได้รวดเร็วหรือแม้แต่เรียนดนตรีได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในบทละครดูจะให้ความสำคัญกับประเด็นผลของการข้ามชนชั้นของ Eliza มากกว่าจะสนใจกระบวนการ จึงไม่มีฉากบรรยายเหตุการณ์การไปร่วมงานเลี้ยงแบบในหนัง กล่าวถึงก็เพียงความสำเร็จจากการไปงานเลี้ยง garden party (ไม่ใช่งานบอลรูมสถานทูตแบบในหนัง) โดยไม่ได้เล่ารายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น บอกเพียงว่า Eliza ทำทุกอย่างได้ดีจนไม่มีใครจับได้ว่าเธอไม่ใช่ชนชั้นสูงจริง ๆ

ประเด็นผลที่จะเกิดขึ้นกับ Eliza ถูกนำเสนอผ่านตัวละครหลายคน แม่บ้านของ Prof.Higgins ก็ตั้งคำถามกับ Prof.Higgins ว่า Eliza จะเข้ามาอยู่ในฐานะอะไร ได้รับการดูแลอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาเสร็จสิ้นการทดลองกับเธอ หรือแม่ของ Prof.Higgins ก็กังวลกับอนาคตของ Eliza หลังจากรู้เรื่องการทดลองเปลี่ยน Eliza เป็นชนชั้นสูงจาก Prof.Higgins ตอนที่เขาพาเธอมาขอให้ช่วยฝึก Eliza เข้าสังคม และตั้งคำถามนี้กับ Prof.Higgins แต่ดูเหมือนเขาจะจดจ่ออยู่กับการพิสูจน์เพียงแค่ว่า เขาจะทำให้ Eliza เป็นคนชั้นสูงโดยไม่มีใครจับผิดได้หรือไม่เท่านั้น

ชื่อเรื่อง Pygmalion เป็นคำที่นำมาจากเทพนิยายกรีก ที่ Pygmalion เป็นประติมากรที่ตกหลุมรักรูปปั้นหญิงสาวที่ตัวเองสร้างขึ้น เกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ Joseph Weizenbaum นำชื่อ Eliza นี้ไปใช้ตั้งให้กับโปรแกรม Chat รุ่นแรก “Eliza” ที่เขาเขียนขึ้นจากความประทับใจในหนังเรื่องนี้ [4]

ภาษาและชนชั้น

หนังเล่นกับประเด็นชนชั้นและความต่างทางภาษาอย่างชัดเจน ชนชั้นล่างอย่าง Eliza พูดภาษาด้วยสำเนียง Cockney มีศัพท์และสแลงที่ต่างจากภาษามาตรฐานที่ผู้ดีอังกฤษพูดกัน ในทางภาษาศาสตร์สังคม (sociolinguistics) เรามองว่าเป็นการแปรของภาษาตามปัจจัยทางสังคมซึ่งในที่นี้นอกจากจะบอกถึงถิ่นหรือ dialect ที่ต่างกันยังบ่งบอกถึงชนชั้นทางสังคมด้วย นักภาษาศาสตร์ศึกษาความต่างนี้เพื่อให้เข้าใจว่าความต่างหรือการแปรที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อความเข้าใจในภาษาแต่ละถิ่นหรือแต่ละกลุ่มชนได้ดีขึ้น ไม่ได้มีความคิดว่าภาษาใดเหนือหรือดีกว่าภาษาอื่น แม้ในหนัง Prof.Higgins จะมีทัศนคติที่มองว่าภาษาอังกฤษที่ชาวบ้านท้องตลาดพูดกันเป็นภาษาที่เพี้ยนไปจากมาตรฐานที่ดี แต่นักภาษาศาสตร์ปัจจุบันจะมองภาษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า

ความต่างทางชนชั้นที่หนังทำให้เห็นคือเรื่องของภาษา การที่คนชั้นล่างอย่าง Eliza จะก้าวเข้ามาในโลกสังคมชนชั้นสูงได้ เธอจะต้องเรียนรู้ที่จะพูดจาให้เหมือนคนเหล่านั้น ทั้งสำเนียงและการใช้ศัพท์สำนวนภาษาต่าง ๆ และนอกจากภาษาแล้ว เธอยังต้องเรียนรู้เรื่องทางวัฒนธรรมทั้งการแต่งกาย กริยาท่าทาง งานกิจวัตรต่าง ๆ หนังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงตนหรือยกระดับในสังคมได้ แต่หากมองในเชิงวิพากษ์ ก็จะเห็นความแตกต่างทางชนชั้นที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องฐานะการเงินแต่ยังถูกกำหนดด้วยมิติหลาย ๆ อย่างทั้งการแต่งกาย การพูดจา การแสดงกริยาท่าทาง ซึ่งทุกอย่างไม่ได้มีคุณค่ามาจากตัวเองเองแต่เป็นคุณค่าที่ถูกกำหนดโดยสังคมไว้ว่าอะไรดีกว่าอะไร

แม้จะเป็นไปได้แบบ Eliza ที่จะเรียนรู้ที่จะยกระดับตัวเอง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะเปลี่ยนจากดินเป็นดาวแบบนี้ได้ คำถามที่น่าสนใจ คือ การที่คนใดคนหนึ่งจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาหรือเธอจะต้องเปลี่ยนไปสู่สังคมอีกระดับหนึ่งหรือ หากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ามีชนชั้นที่ดีหรือเป็นที่ต้องการเป็นมากกว่าอีกชนชั้น? ถ้าตอบแบบมองโลกในแง่ดีเกิน ก็อาจว่าแต่ละคนก็สามารถมีความสุขตามอัตภาพไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าอะไร หรือถ้าตอบแบบมองโลกในแง่ร้าย ก็จะเห็นว่ากลุ่มชนแต่ละกลุ่มมีโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรที่ต่างกัน เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควรจะต้องล้างความแตกต่างนี้ ก็เป็นแนววิพากษ์แบบมาร์กซที่เห็นอุดมการณ์หรือความคิดที่หล่อหลอมในสังคมเป็นสิ่งลวงและเลวร้าย แต่อดีตที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นว่าท้ายสุด การทำลายล้างชนชั้นปกครองก็ไม่ได้นำพาไปสู่อะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนชนชั้นปกครอง ความไม่เท่าเทียมก็ยังดำเนินไปในรูปแบบอื่น

การศึกษาภาษาในมิติของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้ เป็นสาขาที่เรียกว่า Critical Discourse Analysis ซึ่งมองความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคม แต่ไม่ได้สนใจเพียงการเห็นตัวแปรทางสังคมที่ทำให้เกิดความต่างทางภาษาได้ แต่กลับสนใจว่าภาษามีอิทธิพลหรือบทบาทอย่างไรในการครอบงำทางความคิดที่ทำให้ชนกลุ่มหนึ่งมีอิทธิพลเหนือหรือบทบาททางสังคมได้มากกว่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูระดับผิวอย่างสำเนียงหรือการใช้ภาษาของคนแต่ละกลุ่ม แต่ดูกลไกและกระบวนการที่ภาษาถูกใช้เพื่อสื่อสารระหว่างกันในสังคม ว่าทำไมจึงมีการใช้ภาษาในลักษณะนั้น ทำไมจึงไม่ใช้ในอีกลักษณะ เบื้องหลังของการสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร ความคิดความเชื่อที่ดำเนินอยู่ในสังคมนั้นคืออะไร ทั้งหมดก็เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นถึงกลไกการดำเนินไปทางสังคมที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นเบื้องหลังวิถีการใช้ภาษาในแต่ละวัน ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้

--

--

No responses yet