ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : The Professor and the Madman (2019)

Wirote Aroonmanakun
4 min readAug 12, 2021

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง The Surgeon of Crowthorne: A Tale of Murder, Madness and the Oxford English Dictionary (1998) ที่เขียนโดย Simon Winchester โดยเขียนขึ้นจากเรื่องจริง เป็นเรื่องราวที่เผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของการทำพจนานุกรม Oxford English Dictionary เล่มแรก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19. บอกเล่าเรื่องราวของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญสองคน คือ Sir James Murray หัวหน้าโครงการจัดทำ The New English Dictionary on Historical Principles หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า Oxford English Dictionary และ Dr.William Chester Minor แพทย์ชาวอเมริกันที่อยู่ในสถานกักกันผู้วิกลจริตในเมือง Crowthrone ด้วยเหตุจากการยิงคนตายในกรุงลอนดอนเพราะเกิดประสาทหลอนเข้าใจว่ามีคนคอยตามทำร้ายเขา

หนังกำกับโดย Farhad Safinia ผู้กำกับที่สร้างชื่อจากหนังเรื่อง Apocalypto. Mel Gibson แสดงเป็น Sir James Murray ส่วน Sean Penn รับบทเป็น Dr.William Chester Minor และ Natalie Dormer เล่นเป็น Eliza Merrett ภรรยายหม้ายที่สามีถูก Dr.Minor ยิงเสียชีวิต. หนังเดินเรื่องให้เห็นถึงความยากลำบากและความยิ่งใหญ่สำคัญของงานทำพจนานุกรม. ความมุ่งมั่นอุทิศตนและความลุ่มลึกในภาษาของ Murray และ Minor. ความวิกลจริต ความสำนึกผิดและการให้อภัย

การทำพจนานุกรม : The task is gigantic and impossible

หนังแสดงให้เห็นถึงการทำพจนานุกรมว่าเป็นงานที่ยากลำบาก. มีข้อคิด ข้อถกเถียงถึงแนวทางการทำงาน มีการพูดถึงความล้มเหลวของโครงการใน Oxford ก่อนหน้าที่ Murray จะมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการในโครงการ. คำอะไรบ้างที่ควรบรรจุหรือชำระในพจนานุกรม มีทั้งคนที่เชื่อว่าพจนานุกรมควรเป็นแหล่งอ้างอิงและควรมีเฉพาะคำหรือภาษาที่ถูกต้องเท่านั้น เพื่อธำรงความงดงามของภาษาไว้ไม่ให้เสื่อมหรือแย่ลง และมีทั้งคนที่มองว่าพจนานุกรมควรบรรจุคำทั้งหมดที่มีใช้อยู่ตั้งแต่อดีตมา ทั้งที่มีมาแต่เดิมหรือยืมมาจากภาษาอื่นเพื่อบันทึกประวัติและวิวัฒนาการของคำทั้งหมดในภาษาไว้

การทำพจนานุกรมสำหรับ Murray คือการศึกษาคำตั้งแต่เกิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันหรือจนกว่าจะเลิกใช้ไป เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการและความหมายต่าง ๆ ของคำนั้นว่าเริ่มต้นมาอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรทั้งด้านรูปและความหมาย การเปลื่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อไร ทั้งหมดต้องทำโดยมีหลักฐานอ้างอิงจากการใช้คำนั้นจริงในหนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ. ในฉากงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ Murray ร่วมรับประทานอาหารกับคณาจารย์ใน Oxford. Murray กล่าวถึงความคิดเรื่องให้มีอาสาสมัครช่วยค้นหาตัวอย่างคำจากหนังสือเอกสารต่าง ๆ ส่งมาให้ แต่อาจารย์ใน Oxford ที่ทำโครงการนี้ว่าพวกเขาได้ลองใช้วิธีนี้แล้ว ได้ลองอาศัยอาสาสมัครคือนักวิชาการที่รู้ภาษาอังกฤษดีจำนวนแปดสิบเก้าสิบคน แต่งานก็ไม่ไปถึงไหน. Murray ตอบว่าเขามองอาสาสมัครคือคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ คนที่สนใจใส่ใจในภาษา คนที่อ่านหนังสือจากที่ต่าง ๆ อาจารย์ใน Oxford ก็แย้งว่าเราจะอาศัยคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการมาช่วยงาน จะถูกต้องหรือ แต่ Murray ก็ตอบว่า เราต้องการคน อาสาสมัครเป็นพันๆ คนมาช่วยหาตัวอย่าง ให้เขาบอกเราว่าพบคำนี้ใช้ในประโยคอย่างไรในหนังสือเล่มไหน แต่เราคือคนที่มีการศึกษา คนที่จะอธิบายความหมายหรือให้นิยามคำ ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน ความคิดของ Murray ก็คือการใช้ crowdsourcing นั่นเอง

I wanted to document the history of each and every thing. To offer the world a book that gives the meaning of everything in God’s creation. Or at least the English part of it.

อัจฉริยะหรือคนบ้า

ความคิดเรื่องการทำพจนานุกรมเพื่อสืบหาตั้งแต่ต้นกำเนิดและความหมายดั้งเดิมให้เห็นเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของทั้งรูปและความหมายของคำทุก ๆ คำในภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเลิกใช้ไปแล้วหรือยังคงใช้อยู่ เป็นงานที่ต้องการคนที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานนี้ เป็นงานที่อาจารย์ใน Oxford ไม่สามารถทำแบบเป็นงานอดิเรกหรือบางเวลาได้. Murray ใช้เวลาทั้งวันกับงาน เขามีผู้ช่วยงานอีกสองคนทำงานเต็มเวลา เริ่มแรก งานทำท่าจะไปไม่รอด แต่ละคำที่ทำ ทีมงานไม่สามารถหาตัวอย่างคำได้ครบถ้วน ในหนังพูดถึงคำ approve ซึ่งพบในปีศควรรษที่ 14, 15, 16 และ 19 แต่ไม่พบตัวอย่างในศตวรรษที่ 17, 18 แม้ว่าคำนี้จะยังใช้อยู่ในปัจจุบัน. Murray ไม่เชื่อว่าคำจะหายไปในสองศควรรษนั้น แม้ผู้ช่วยเขาจะเสนอว่าให้ดูว่ามีคำในปัจจุบันและเคยมีคำในศตวรรษที่ผ่านมาแล้วก็น่าจะพอ แต่สำหรับ Murray เขายอมให้มีช่องว่างที่หายไปไม่ได้ เพราะเขาต้องการรู้ถึงพัฒนาที่ต่อเนื่องของคำ เขาบอกให้ลูกทีมไปค้นดูในหนังสือ Paradise Lost ของ Milton (1667) แต่นั่นหมายถึงเวลาที่ต้องใช้ในการทวนอ่านหนังสือทั้งเล่มเพื่อหาว่ามีคำ approve ใช้ในหน้าไหนประโยคเขียนอย่างไร งานทำพจนานุกรมโดยอาศัยข้อมูลคำและตัวอย่างจริงจากหนังสือทั้งหมดที่มีโดยที่ไม่สามารถสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ได้แบบปัจจุบันจึงเป็นงานที่ต้องอาศัยความอุตสาหะและทุ่มเทอย่างมาก

ในหนัง แสดงให้เห็นปัญหาการทำงานและว่าโครงการเกือบจะไปไม่รอด โชตดีที่ Dr.Minor ซึ่งอยู่ในสถานกักกันผู้ป่วยโรคจิต เห็นใบเชิญชวนแนบในหนังสือที่ได้มาให้ร่วมส่งสลิปตัวอย่างการใช้คำ เขาจึงสนใจและใช้เวลาที่อยู่ในสถานกักกันนั้นเขียนตัวอย่างคำส่งไปให้ ทำให้มีตัวอย่างคำ approve ไปเติมเต็มตัวอย่างที่ขาดหายไปได้. Murrey และทีมจึงดีใจมาก และจากตัวอย่างคำที่ได้จาก Dr.Minor ทยอยส่งให้เรื่อย ๆ กว่า 10,000 ตัวอย่าง ทำให้ทีมสามารถสานงานต่อจนสำเร็จออกเล่มแรกของ The New English Dictionary on Historical Principles : A-Ant ออกมาจนได้

สำหรับ Dr.Minor การได้ใช้เวลากับการค้นหาคำในหนังสือช่วยนำทางเขาหลุดพ้นจากความมืดมิด หลุดพ้นจากความหวาดกลัวและฝันร้ายจากบาดแผลหลังสงครามที่ตามหลอกหลอนเขาอยู่ทุกวี่วัน ด้วยตวามที่เป็นคนรอบรู้อ่านหนังสือมามากและมีหนังสือสะสมมากมาย เขาจึงทำงานช่วยหาข้อมูลอย่างแข็งขัน. การหมกมุ่นกับการหาตัวอย่างคำทำให้เขาได้พบความสงบและไม่ถูกหลอกหลอนจากภาพในอดีต

Murray เองก็รู้สึกขอบคุณ Dr.Minor เขาได้เขียนจดหมายสนทนาและขอความช่วยเหลือคำที่มีปัญหาไปหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Dr.Minor ก็ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวังเลย ภายหลังเมื่อรู้ว่า Dr.Minor เป็นผู้ถูกกักขังในสถานบำบัดโรคจิต เขาจึงไปเยี่ยมและสนทนากับ Dr.Minor เสมือนเพื่อนที่รู้ใจที่นิยมชื่นชอบในภาษาและการอ่าน ว่าไปแล้ว หากไม่มองว่าคนหนึ่งเป็นคนไข้โรควิกลจริตหรือคนบ้า ทั้งสองก็แทบไม่แตกต่างกัน เป็นอัจฉริยะที่รอบรู้เรื่องภาษาและหนังสือ ในอีกนัยหนึ่ง คนที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำพจนานุกรม เป็นงานที่แม้แต่นักวิชาการก็มองว่าเป็นไปไม่ได้ จึงมีแต่คนบ้าเท่านั้นจึงจะยังทำสิ่งนี้ให้ได้ ทั้งสองคนจึงเป็นเหมือนทั้งอัจฉริยะและคนบ้า

ความสำนึกผิดและการให้อภัย

หนังไม่ได้กล่าวถึงมากนักว่า Dr.Minor ได้บาดแผลทางใจจากสงครามอย่างไร. มีเพียงภาพในอดีตของความรุนแรงในสงคราม จากทหารที่เขาจำต้องตัดขารักษาเพื่อชีวิตไว้ จากคนที่ถูกเขาใช้เหล็กเผาตัวอักษร D แนบใบหน้าเพื่อทำเครื่องหมายทหารหนีทัพ (deserter). เสียงกรีดร้องและภาพความโหดร้ายเหล่านี้คอยตามหลอกหลอนทำให้หลอนเห็นคนจะมาทำร้ายเขาอยู่ตลอด ไม่ว่าอย่างไร จิตใจเขาบอบช้ำจากสำนึกในอดีตของเขา การฆ่าคนตายด้วยอาการประสาทหลอนซึ่งทำให้ Eliza Merrett ต้องกลายเป็นหม้ายพร้อมลูกอีกหกคนที่ต้องดูแลทำให้ Dr.Minor อยากชดเชยด้วยการให้เงินบำนาญช่วยเหลือครอบครัว Merrett เพื่อช่วยเหลือแทนสามีที่ตายไป. Mrs.Merrett เดิมปฏิเสธเงินช่วยเหลือนี้ด้วยความคับแค้น อาฆาตและไม่อยากให้อภัย ภายหลังต้องยอมรับเพราะทนเห็นลูก ๆ ต้องอดอยากไม่ได้ Mrs.Merrett เดิมตั้งใจเพียงแค่จะใช้เงินของ Dr.Minor และอยากเห็นเขาต้องถูกคุมขังไปตลอด แต่นานวันเข้า หลังจากได้รู้จัก Dr.Minor ได้เรียนรู้ที่จะอ่านเพราะ Dr.Minor สอนให้กับเธอ เธอก็หายแค้นเคืองและให้อภัยเขา นอกจากเธอจะคอยหาหนังสือเล่มใหม่ ๆ มาให้เขาอ่าน วันหนึ่ง เธอได้ให้โน้ตแก่เขา ในนั้นมีข้อความว่า If love … then what

Dr.Minor กลับมาวิกลจริตอีกครั้ง เขาได้ปลิดชีวิตสามีเธอไปแล้ว นี่คราวนี้ เขาได้ฆ่าสามีเธอซ้ำอีกครั้งโดยการฆ่าเขาไปจากใจเธออีกหรือ ความรู้สึกผิดทำให้เขาคลุ้มคลั่งทำร้ายตัวเอง จิตแพทย์ที่ดูแลได้เปลี่ยนวิธีการรักษาใหม่เพื่อให้เขาสงบลง แต่กลับทำให้เขาเหมือนเป็นร่างไร้วิญญาณ. Murray ได้พยายามหาทางช่วยเพื่อย้ายสถานพยาบาล ในที่สุด ความพยายามก็บรรลุผล Dr.Minor ถูกย้ายกลับไปรักษาต่อที่อเมริกาแทน และถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วอาการ schizophrenia หรือโรคจิตเภท หลังจากนั้น หนังก็จบด้วยการบรรยายความว่าทั้งสองคนมีชีวิตอย่างไรต่อและเสียชีวิตเมื่อไร และความสำเร็จของโครงการ OED ในท้ายที่สุด

หนังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในมุมมองนักวิจารณ์ และไม่ได้เป็นที่รู้จักและทำรายได้มาก ผู้กำกับ Safinia และ Mel Gibson ต่างก็ไม่พอใจกับหนังที่ออกมา [1] มีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้กำกับกับบริษัทที่สร้างหนังเรื่องนี้ หนังไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบที่ทั้งสองคนวาดความหวังไว้ ซึ่งก็จริงตามนั้น เพราะแม้เนื้อเรื่องหนังจะดี นักแสดงแสดงได้ยอดเยี่ยม แต่การดำเนินเรื่องเหมือนสะดุดและขาดตอน เรื่องไม่พัฒนาไปจนจบแบบที่ควร “This was a labor of love for the entire creative team, and it is unfortunate for all concerned that this film was never finished as written,” แต่สำหรับคนรักภาษา หนังเรื่องนี้มีคุณค่าให้เห็นเบื้องหลังการทำพจนานุกรมที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่ง เห็นถึงบทสนทนาที่เต็มไปด้วยศัพท์พบได้ยากอย่าง bulwark, alveary, fettle, louche, gyre, consanguineous, etc.

พจนานุกรม : it will never be completed

นอกจากหนังจะทำให้เราเห็นถึงความยากลำบากและความละเอียดซับซ้อนที่ต้องการข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เพื่อนิยามคำแล้ว หนังยังพูดถึงงานพจนานุกรมที่ไม่มีวันจบสิ้น บทสนทนาระหว่าง Furnivall และ Murray สะท้อนให้เห็นประเด็นนี้. Furnivall ชี้ให้ Muarray เห็นว่า ภาษามีคำใหม่ ๆ เกิดจากผู้คนอยู่เสมอ แม้ในหมู่คนใช้ก็มีคำจำนวนมากที่เกิดขึ้น เช่น Dunnage, Sprat, Blag. Murray จึงถามว่าแล้วแบบนี้งานพจนานุกรมจะเสร็จลงได้เมื่อไร Furnivall ว่าพจนานุกรมเป็นงานที่ไม่มีวันหยุดได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Murray ได้ทำให้มันเกิด ได้แสดงให้ผู้คนเห็นถึงหนทางที่จะทำพจนานุกรมแล้ว และคนรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะเดินตามเส้นทางนี้ได้

Furnivall : Come with me. Come, I want to show you something.
servants : I told’im if he was to take me out I’d need new dunnage.
servants : What? With a sprat? How’d you do that?
servants : I told’im t’was a quid and I blagged the rest for myself.
Furnivall : Dunnage? Sprat? Blag? How many new words replacing the old? How many new words for things that yet to be imagined? How many of them in your all encompassing book?
Furnivall : No language can ever be permanently the same, James. Not if it springs forth from life.
Murray : But how can the work be ended if not ever completed?
Furnivall : You’ve given us is its heart along with a great jolt to begin the first few beats. Generations after you will continue this work because you has showed them the way. But it will never be completed.

Corpus-based lexicography

ก่อนหน้าที่ Murray จะมารับเป็นหัวหน้าโครงการในปี 1879 ความคิดที่จะทำโครงการพจนานุกรมมาตั้งแต่ปี 1844 จากกลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวเป็น Philological Society แต่งานมาเริ่มต้นจริงในปี 1857 โดยมีการตั้ง Unregistered Words Committee เพื่อหาคำที่ยังไม่มีในพจนานุกรมหรือมีนิยามไม่ชัดเจน ตอนหลังจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการทำพจนานุกรมที่ครอบคลุมคำทั้งหมดอย่างแท้จริง

Richard Chenevix Trench เป็นหัวหน้าโครงการในช่วงแรก แต่ทำได้ไม่กี่เดือนก็ต้องไปเป็นคณบดีของ Westminster จึงให้ Herbert Coleridge เป็นบรรณาธิการคนแรกแทน งานช่วงแรกเป็นการทำข้อมูล quotation หรือการอ้างอิงตัวอย่างการใช้ของคำต่าง ๆ เก็บไว้กว่า 100,000 ตัวอย่าง Coleridge เสียชีวิตเมื่ออายุ 30 ปีในปี 1861 Thereupon Furnivall จึงมาเป็นบรรณาธิการต่อและได้ทำสลิปข้อมูลตัวอย่างต่อเนื่องมาอีกสิบกว่าปี กว่าที่ Murray จะมารับงานเป็นหัวหน้าโครงการทำพจนานุกรมในปี 1878 Murray จึงไม่ได้เริ่มต้นงานจากศูนย์. Murray พบว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นเน้นที่คำหายากเป็นหลัก ตัวอย่างคำปัจจุบันกลับมีไม่มากพอ เขาจึงเชิญชวนคนผ่านทางหนังสือพิมพ์ ร้านหนังสือ ห้องสมุด ให้ผู้คนช่วยค้นหาตัวอย่างคำและส่งใบสลิปตัวอย่างมาให้ จนถึงปี 1880 ก็สามารถรวบรวมตัวอย่างได้ถึง 2,500,000 ตัวอย่าง [2]

ภายหลังที่ Murray พบว่าตัวอย่างจำนวนมากเลยมาจาก Dr.Minor และเรื่องราวของเขาสองคนที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ OED เริ่มต้นและสำเร็จออกมาได้ก็เป็นที่มาของหนังสือเรื่อง The Surgeon of Crowthorne ของ Simon Winchester และภาพยนตร์เรื่องนี้ตามที่กล่าวมา งาน OED แม้จะดำเนินไปได้ แต่ Murrey เสียชีวิตในปี 1915 เขาได้ทำพจนานุกรมไปได้ประมาณครึ่งหนึ่ง บรรณาธิการคนอื่น ๆ เช่น Bradley ซึ่งเคยทำงานในทีมเขาได้สานงานต่อ และเสียชีวิตในปี 1923 พจนานุกรม Oxford English Dictionary เสร็จฉบับแรกในปี 1928. มีทั้งหมด 12 เล่ม มีคำ 414,825 คำพร้อมตัวอย่างอ้างอิง 1,827,306 ตัวอย่าง

OED เป็นงานที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลภาษาที่นำมาใช้เป็นตัวอย่าง แม้ในสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้เก็บข้อมูลภาษาและค้นหาคำและตัวอย่าง นักพจนานุกรมก็ยังทำงานอย่างไม่ย่อท้อ พจนานุกรมเล่มต่อมาทั้งของ OED หรือพจนานุกรมสำนักอื่นๆ ต่างก็อิงกับข้อมูลการใช้จริงเป็นพื้นฐานในการนิยามความหมาย การทำพจนานุกรมแบบนี้จึงเรียกว่า corpus-based lexicography

ยิ่งนานวัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้การทำพจนานุกรมสะดวกและมีเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์มากขึ้น ตัวอย่างของ WordSketch [3] เป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยงานนักทำพจนานุกรม นอกจากจะสามารถค้นหาตัวอย่างการใช้คำแบบที่ Murray ต้องการได้ ยังช่วยวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ว่าคำนั้นเป็นคำประเภทไหน มักปรากกร่วมกับคำอะไร หากเป็นคำกริยา คำที่มักเป็นประธานคืออะไร คำที่มักเป็นกรรมคืออะไร หรือหากเป็นคำนามก็บอกได้ว่าคำคุณศัพท์ที่มาขยายมีอะไรบ้าง คำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกันมีการใช้แตกต่างกันอย่างไร เป็นตัน

โครงการ Google Ngram [4] เป็นอีกตัวอย่างของการใช้คอมพิวเตอร์เก็บหนังสือตั้งแต่อดีต (1800) ถึงปัจจุบัน ช่วยให้เราสืบค้นการใช้คำหรือวลีต่าง ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาไปอย่างไร หาก Murray มีเครื่องมือเหล่านี้ในการทำพจนานุกรม งานของเขาคงเสร็จได้เร็วขึ้นแน่นอน. และก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตหากคอมพิวเตอร์ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจไม่ได้แค่ช่วยดึงตัวอย่างข้อมูล ช่วยวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์เบื้องต้น แต่อาจช่วยวิเคราะห์ความหมายของคำ สามารถมองเห็นการใช้ความหมายที่แตกต่างกันของคำจากบริบทจำนวนมาก. สามารถเลือกตัวอย่างมาเติม เขียนนิยามคำขึ้นเองจากข้อมูลที่มี แล้วส่งให้บรรณาธิการตรวจแก้ไขในขั้นสุดท้าย หากถึงวันนั้นจริง งานทำพจนานุกรมก็อาจไม่ใช่เรื่องท้าทายอีกต่อไป

อ้างอิง

[1] https://deadline.com/2019/04/mel-gibson-professor-and-the-madman-lawsuit-settlement-reaction-1202589514/

[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Oxford_English_Dictionary

[3] https://www.sketchengine.eu

[4] https://books.google.com/

--

--