ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : Dances with wolves (1990)
“If we were to select the most intelligent, imaginative, energetic, and emotionally stable third of mankind, all races would be present.” (Franz Boas)
เรื่องราวของทหารอเมริกัน John Dunbar ในช่วงปีค.ศ.1863 สงครามกลางเมืองอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ John เป็นทหารที่บาดเจ็บและจะต้องถูกตัดขาทิ้ง เขาเลยตัดสินใจขี่ม้าเข้าหาทหารฝ่ายใต้เพียงเพื่อหวังให้ตัวเองถูกยิงตาย แต่กลับกลายเป็นการปลุกขวัญกำลังใจทหารฝ่ายเหนือให้รุกเอาชนะทหารฝ่ายใต้ได้ในที่สุด ผลจากการกระทำนี้ทำให้เขาได้รับการดูแลรักษาจนหายไม่ต้องตัดขาทิ้ง ได้ม้าตัวที่ขี่เป็นรางวัลพร้อมกับทางเลือกให้ไปประจำการที่ไหนก็ได้ เขาเลือกไปประจำการที่ป้อมสุดขอบแดน เพราะเขาอยากจะเห็นสุดขอบแดน (frontier) ของอเมริกาก่อนที่มันจะหายไป ที่นั่น เขาพบเพียงป้อมร้างที่ถูกทิ้งไว้ แต่เขาก็ตัดสินใจอยู่ต่อโดยลำพัง มีเพียงม้าคู่ใจและสุนัขป่าหลงฝูงตัวหนึ่งที่มาคอยมาเลียบ ๆ มอง ๆ เขาที่ค่ายทหาร
ณ ที่นี่ เขาได้พบกับอินเดียนแดงเผ่า Sioux ก่อนหน้านี้ ภาพความเข้าใจของเขาต่อคนพื้นเมืองคือเป็นคนป่าเถื่อน เป็นเหมือนโจรและขอทาน ไร้อารยธรรมความเจริญ แต่เมื่อเขาได้พบปะและเรียนรู้เกี่ยวกับชนเผ่า Sioux มากขึ้น เขาก็เริ่มเห็นว่า แท้จริงแล้ว คนป่าเถื่อนที่ไร้อารยธรรมคือคนผิวขาวแบบเขานั่นเอง คนที่พร้อมจะฉกฉวยทุกอย่างจากดินแดนแห่งนี้ หนังต้องการสะท้อนให้เห็นสังคมวัฒนธรรมชาวอินเดียนแดงว่าเป็นสังคมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และวิถีความเป็นอยู่ของสังคมเหมือนสังคมอื่น ๆ ที่นี่ John ได้ฉายาว่า dances with wolves เพราะชาวอินเดียนแดงเห็นราวกับว่าเขากำลังวิ่งหยอกล้อกับสุนัขป่า เมื่อตอนที่เขาพยายามไล่ไม่ให้สุนัขป่าตัวนั้นตามเขาไปที่หมู่บ้านเผ่า Sioux
หนังแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปของ John จากคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกในสังคมที่ตัวเองอยู่ แต่ที่สังคมเผ่า Sioux นี้ เขาได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตชาวอินเดียนแดงมากขึ้น ได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ได้ร่วมกิจกรรมสังคมของชาวเผ่า Sioux ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่ ได้สู้รบเพื่อปกป้องหมู่บ้านจากการโจมตีของอินเดียนแดงต่างเผ่า ที่นี่ เขาจึงได้สัมผัสการมีชีวิตที่มีความหมาย ชีวิตที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ร่วมอยู่ ร่วมกิน ร่วมล่า และต่อสู้เพื่อปกป้องเสบียงอาหาร ครอบครัว คนที่รัก และชุมชน เป็นสังคมที่แม้ไม่ได้มีความเจริญทางเทคโนโลยี แต่ทุกคนอยู่อย่างมีคุณค่า มีบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบในชุมชน ที่นี่ไม่ได้ทำสงครามสู้รบกับใครเพื่ออะไรที่ไกลตัวอย่างอุดมการณ์หรือการขยายเขตแดน แต่ที่นี่คือบ้าน บ้านที่ John เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง
หนังแสดงให้เห็นถึงการพยายามสื่อสารของคนต่างภาษาต่างวัฒนธรรม ที่ค่อย ๆ เรียนรู้จากคำเรียกต่าง ๆ ในอีกภาษา แต่หนังก็ใช้วิธีลัด โดยให้มีตัวละครหญิงผิวขาวที่กำพร้าครอบครัวตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวเธอถูกอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งฆ่าตายหมด คนเผ่า Sioux มาพบและนำเธอไปเลี้ยงดู เธอมีฉายาว่า Stand with a Fist เพราะเมื่อเธอถูกรังแกจากเด็กคนอื่น ๆ ในเผ่า เธอได้ต่อยเด็กหญิงที่โตกว่าล้มไป แม้จะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษอีกเลยตั้งแต่มาอยู่กับชนเผ่า Sioux แต่ดูเหมือนว่า ภาษาแม่ที่มียังฝังติดตัวเธออยู่และค่อย ๆ รื้อฟื้นมาได้ เธอจึงกลายเป็นล่ามจำเป็นที่ช่วยให้ John และ อินเดียนแดงที่ชื่อ Kicking Bird ได้สื่อสารและเรียนรู้ภาษาของแต่ละฝ่ายได้เร็วขึ้น
John ถูกจับตัวโดยทหารอเมริกันตอนที่เขาย้อนกลับไปที่ป้อมทหารเพื่อเอาบันทึกที่เขาเขียนเล่าเรื่องชีวิตประจำวันและการพบปะกับชนเผ่า Sioux และวางทิ้งไว้ที่ป้อม เขาแต่งตัวเป็นอินเดียนแดง จึงถูกทหารระดมยิงจนม้าคู่ใจตายไปต่อหน้า เขาปฏิเสธที่จะนำทัพทหารไปหาชนเผ่า Siuox เพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอินเดียนแดง เขาจึงถูกส่งตัวไปรับโทษฐานเป็นคนทรยศ ในระหว่างทางที่ถูกส่งตัวกลับไปรับโทษ สุนัขป่าที่คอยแวะเวียนมาหาเขาก็เดินตามคอยดูอยู่ห่าง ๆ และก็ถูกเหล่าทหารอเมริกันสังเกตเห็นและใช้เป็นเป้าซ้อมยิงเล่นจนตายไปเช่นกัน เป็นอันหมดสิ้นสิ่งที่ผูกพันเขากับโลกใบเก่า ในระหว่างทางส่งตัวกลับนี้ นักรบเผ่า Sioux ตามมาช่วย John และฆ่าทหารในกองคาราวานจนหมด เมื่อกลับถึงหมู่บ้านฤดูหนาวของชาวเผ่า Sioux. John จึงตัดสินใจไปจากหมู่บ้านพร้อมภรรยา เพื่อใม่ให้ชาวเผ่า Sioux ที่เหลือต้องถูกคุกคามจากทหารอเมริกันด้วย เพราะเขารู้ว่ากองทหารอเมริกันจะต้องตามล่าคนที่ถูกมองว่าเป็นคนทรยศอย่างเขาไปตลอด
หนังจบลงด้วยคำบรรยายสั้น ๆ ว่าอีกสิบกว่าปีต่อมา ชาวเผ่า Sioux ก็พ่ายแพ้แก่ทหารอเมริกัน มีชะตากรรมไม่ต่างจากอินเดียนแดงเผ่าอื่น ๆ และสุดขอบแดนอเมริกาก็สูญสลายไปพร้อมกับอารยธรรมชาวพื้นเมืองที่อยู่มายาวนานก่อนที่ชาวตะวันตกจะเข้ามาในแผ่นดินนี้ [1] หนังเรื่องนี้จึงแตกต่างจากหนังตะวันตกที่ผ่านมาที่มักฉายแต่ภาพคนตะวันตกที่เข้ามาบุกเบิกดินแดนแล้วต้องต่อสู้กับความโหดร้ายป่าเถื่อนของคนอินเดียนแดง เป็นหนังที่ยอมรับถึงความโหดร้ายและการรุกรานของชาวตะวันตกที่อพยพมาแย่งชิงดินแดนจากชาวพื้นเมือง
หนังแสดงนำและกำกับโดย Kevin Costner ได้รับรางวัลออสการ์ 7 รางวัล Best Picture, Best Director, Best Screenplay, Best Cinematography, Best Sound, Best Film Editing, Best Music [2] เป็นหนังที่นอกจากเนื้อหาดี ภาพสวยงาม และดนตรีก็น่าฟังมาก ฉากการล่าฝูงกระทิงป่าก็เหลือเพียงแค่ภาพความทรงจำ
หนังตั้งใจทำให้สมจริงในส่วนของภาษาเผ่า Sioux จึงได้จ้าง Doris Leader Charge [3] อาจารย์สอนภาษาและวัฒนธรรม Lakota ที่ South Dakota’s Sinte Gleska College เธอเป็นชาวพื้นเมือง Sioux ที่พูดภาษา Lakota ได้ (Lakota เป็นภาษาถิ่นหนึ่งของพวก Sioux) เธอจึงเป็นคนแปลบทภาพยนตร์ส่วนที่เป็นภาษา Lakota และสอนนักแสดงให้พูดภาษา Lakota รวมถึง Kelvin Costner เองที่ต้องฝึกพูดภาษานี้ด้วย ในหนังก็มีฉากหนึ่งที่ John พูดกับทหารอเมริกันเป็นภาษา Lakota ว่า
“My name is Dances with Wolves. I have nothing to say to you. You are not worth talking to.”
หนังเป็นตัวอย่างให้เห็นการศึกษาภาษาวัฒนธรรมของคนต่างภาษา ที่ต้องอาศัยการสนทนาซักถาม ค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องเสียง เรื่องคำ เรื่องการประกอบคำเป็นวลีและประโยค และเรียนรู้ผ่านการเข้าไปคลุกคลีเพื่อให้เข้าใจความหมายและบริบทการใช้ นักมนุษยวิทยาที่สนใจศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ คือ Franz Boas (1858–1942) [4] แม้จะยังไม่มีสาขาภาษาศาสตร์โดยตรงในสมัยนั้น แต่วิธีการเข้าไปศึกษาภาษาเขาเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาภาษาศาสตร์ภาคสนามต่อมา หนังสือ Handbook of American Indian Languages [5] เป็นหนังสือที่ให้แนวทางการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมที่สืบต่อมายังลูกศิษย์ที่ชื่อ Edward Sapir (1884–1939)
หนังอีกเรื่องที่ให้อารมณ์ความรู้สึกทำนองนี้คือ The Last Samurai เหตุการณ์ในปีค.ศ.1877 ที่ Tom Cruise แสดงเป็นทหารอเมริกันที่ขมขื่นจากอดีตในสงครามกวาดล้างอินเดียนแดง และได้มาพบความสงบกับความหมายชีวิตอีกครั้งเมื่อถูกจับเป็นเชลย และได้ใช้ขีวิตอยู่ในหมู่บ้านซามูไร
Next : ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์ : Arrival (2016)
Notes:
[1] Native American History Timeline [https://www.history.com/topics/native-american-history/native-american-timeline]
[2] Dances with wolves https://www.imdb.com/title/tt0099348/?ref_=ttqt_qt_tt
[3] Kevin Costner Said the Words but Doris Leader Charge Made the Dances Dialogue Truly Sioux https://people.com/archive/kevin-costner-said-the-words-but-doris-leader-charge-made-the-dances-dialogue-truly-sioux-vol-35-no-2/
[4] Franz Boas https://en.wikipedia.org/wiki/Franz_Boas
[5] Introduction to the Handbook of American Indian Languages (Boas 1911) http://www.etnolinguistica.org/biblio:boas-1911-introduction