เรื่องเล่า ๒๐๑๙ วิกฤตมนุษยศาสตร์
The Humanities are in Crisis
อาจารย์ดิเรก ใช้เวลาทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการสอนภาษาอังกฤษ ช่วยเหลือลูกศิษย์มากว่า 20 ปีให้สามารถอ่านฟังพูดเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี อาจารย์ดิเรกทุ่มเทเวลากับการตรวจแก้งาน ฝึกทักษะลูกศิษย์ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เพราะเห็นว่าภาษาอังกฤษที่ดีเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของลูกศิษย์แต่ละรุ่นที่ผ่านมา แม้ช่วงหลัง จะมีเรื่องประกันคุณภาพอะไรมากมายแทรกเข้ามา ทำให้ต้องมานั่งเสียเวลากรอกเอกสารเพียงเพื่อจะยืนยันกับคนตรวจประกันว่าได้ทำงานครบทุกขั้นตอนคือมีคุณภาพแล้ว แม้จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง อาจารย์ดิเรกก็ไม่เคยบ่น ยอมทำงานหนักขึ้น และก็ไม่เคยให้เวลากับลูกศิษย์และงานสอนน้อยลง แม้จะเหนื่อยสายตัวแทบขาด อาจารย์ดิเรกก็สู้กัดฟันทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะความสำนึกและภาคภูมิใจในความเป็นครู
อาจารย์ดิเรกทำงานเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ จะเริ่มผิดแผกจากเดิม ไม่ได้มีกริยาอาการแสดงความเคารพนับถือเหมือนลูกศิษย์เก่าๆ อาจารย์ดิเรกก็ไม่เคยบ่น ด้วยเข้าใจว่าเป็นเพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไป จึงไม่ได้ถือสาเอาความ และยังคงให้ความใส่ใจและเมตตาต่อลูกศิษย์ดังที่เคยทำเสมอมา อาจารย์ดิเรกก็คงหวังใช้ชีวิตเช่นนี้ไปจนเกษียณ เหมือนอาจารย์รุ่นก่อนๆ ที่เคยทำมา จนกระทั่งวันหนี่ง เทพจากสวรรค์เห็นแก่ความดีงามที่อาจารย์ดิเรกที่ทำสั่งสมมา จึงได้ส่งภูติสามตนมาเยือน เพื่อเตือนสติให้อาจารย์ดิเรกได้รับรู้ถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดอยู่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ภูติแห่งอดีต
ภูติแห่งอดีตได้พาอาจารย์ดิเรกย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อาจารย์ดิเรกต้องตกใจที่ได้เห็นว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการปิดตัวลงของสาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบจะทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสาขาภาษาต่างประเทศ ปรัชญา หรือสาขาภาษาต่างประเทศต่างๆ
- Disappearing Languages at Albany, Inside Higher Ed, October 4, 2010
- Why is Middlesex University philosophy department closing?, The Guardian, May 17, 2010
- The Humanities and the Crisis of the Public University, Townsend Center for the Humanities, Berkeley, February 2011
- Humanities Retrenchment at Pitt, Inside Higher Ed, April 24, 2012
- Language teaching crisis as 40% of university departments face closure, The Guardian, August 17, 2013
- Humanities in Korea: Revival or crisis?, The Korea Herald, May 24, 2013
- Tel Aviv University Closing French Dept., as Humanities Studies Falter, HAARETZ, Apr 10, 2014
- Universities must make languages relevant, The Guardian, April 16, 2014
- The war against humanities at Britain’s universities, The Guardian, March 29, 2015
- Japanese government asks universities to close social sciences and humanities faculties, ICEF Monitor, 17 Sep 2015
- ANU language school staff cuts denounced by Sydney University academics, The Canberra Times, APRIL 7 2016
- Universities face a crisis of the humanities, RNZ, 12 October 2018
- The Humanities Are in Crisis, The Atlantic, AUG 23, 2018
ภูติแห่งอดีตยังชี้ให้เห็นว่า วิกฤตทางมนุษยศาสตร์ หรือ Humanities in crisis เป็นเรื่องที่มีการพูดกันมาก่อนหน้านี้มานานพอสมควร หนังสือ “Crisis in the Humanities” โดย J.H. Plumb พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1965 ก็เพื่อพูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ด้วยความสงสัย อาจารย์ดิเรกจึงได้ลองค้นหาบทความหรือหนังสือ ที่มีข้อความว่า “crisis in the humanities” ในฐานข้อมูล JSTOR [1] เขาจึงได้เห็นว่าเรื่องนี้มีพูดมาตั้งแต่ปี 1922 และมีพูดถึงประปรายบ้างต่อมา จนมาเริ่มมีการพูดถึงจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ปี 1965 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ดิเรกพบความจริงว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มหาวิทยาลัยในอเมริกาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว วิทยาลัยครูจำนวนมากถูกยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย แต่ความเติบโตนี้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อจำนวนบัณฑิตทางมนุษยศาสตร์เพิ่มจำนวนมากขึ้น[2] จนมีบัณฑิตมากเกินความต้องการในตลาด ผู้คนก็เริ่มตั้งคำถามว่า เรียนมนุษยศาสตร์ไปแล้วได้อะไร เรียนแล้วมีประโยชน์อะไร ในเมื่อไม่มีอาชีพโดยตรงรองรับ ประกอบกับสาขาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีการเติบโตมากขึ้น ต้องการงบประมาณมากขึ้น บัณฑิตที่จบมามีความชัดเจนมากกว่าว่าจะไปทำงานอาชีพใด จึงไม่แปลกว่าเมื่อมีวิกฤตทางการเงินคราวใด เมื่อมหาวิทยาลัยถูกปรับลดงบประมาณจากรัฐลง สาขามนุษยศาสตร์จึงเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการลดจำนวนอาจารย์ ไปจนถึงการปิดสาขาที่ผู้เรียนเริ่มลดลง
ขณะที่อาจารย์ดิเรกกำลังมึนงงกับสิ่งที่ผ่านมา มันเหมือนมนุษยศาสตร์มีปัญหามาอยู่ตลอดเวลา และพร้อมจะเป็นฝ่ายถูกกระทำเมื่อไรก็ตามที่มีวิกฤตการเงิน และในประเทศไทย เราจะเจอกับวิกฤตเหล่านี้ด้วยไหม แต่ไม่ทันที่ความคิดทั้งหลายจะตกผลึก ภูติแห่งอดีตก็ผลักดิเรกลงอุโมงค์เวลาลอยลิ่วสู่ปัจจุบัน
ภูติ ณ ปัจจุบัน
อาจารย์ดิเรกกลับสู่โลกปัจจุบัน รู้สึกโล่งใจว่าอย่างน้อย ก็กลับเข้าสู่ชีวิตปกติของตน ได้ตั้งใจทำงานไป วิกฤตมนุษยศาสตร์ก็มีมานานแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นอะไรกัน เราก็คงไม่ต้องกังวลวิตกอะไรด้วย แต่ยังไม่ทันจะเต็มอิ่มกับความสุขในใจ ภูติ ณ ปัจจุบัน ก็ปรากฏกายขึ้น แล้วฉายภาพข่าวคราววิกฤตอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาให้เห็น อาจารย์ดิเรกเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้บ้าง แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีชึ้นเอง
- อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน, ผู้จัดการออนไลน์, 28 ธ.ค. 2559
- วิกฤติหนัก! อีก 10 ปี “มหาวิทยาลัยไทย” 3 ใน 4 ไปไม่รอดแน่!!, NationTV, 19 พ.ค. 2560
- วิกฤตอุดมศึกษา : บทเรียนเรื่อง ‘ความเคยชินบดบังปัญหา’, มติชนออนไลน์, 15 กรกฎาคม 2561
- วิกฤตอุดมศึกษา มหา’ลัยล้น-ห้องเรียนร้าง, โพสต์ทูเดย์, 24 ส.ค. 2561
- ส่องวิกฤตอุดมศึกษา ที่นั่ง TCAS 62 เหลืออื้อ มหาลัยฯ ล้นทะลัก ห้องเรียนทิ้งร้าง, ผู้จัดการออนไลน์, 1 มิ.ย. 2562
- ทุนจีนยกทัพไล่ซื้อมหา’ลัย ธุรกิจการศึกษาวิกฤต”ขาดสภาพคล่อง”, ประชาชาติธุรกิจ, 22 มิ.ย. 2562
อาจารย์ดิเรกเริ่มเห็นแล้วว่าวิกฤตคราวนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะทางมนุษยศาสตร์เหมือนเดิม แต่เป็นวิกฤตของอุดมศึกษาทั้งระบบ เราคงมีมหาวิทยาลัยมากเกินความต้องการจริงๆ เพราะคนเกิดใหม่น้อยลง[3] เด็กนักเรียนแต่ละรุ่นที่จะเข้ามาในโรงเรียนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยก็ขยายตัวมากขึ้นเพื่อสนองนโยบายการผลิตบัณฑิตที่มีวุฒิปริญญาเอกมากขึ้น
เพื่อความแน่ใจ อาจารย์ดิเรกลองรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ คำนวณจำนวนรวมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก ในมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ และก็ยืนยันความจริงที่ว่านี้ วิกฤตนี้ไม่มีทางแก้ได้ จำนวนประชากรตามการคาดการณ์มีแต่จะลดลงตลอดทุกปี หรือแม้มีปาฏิหารย์ที่สามารถเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ให้ได้ทันทีในตอนนี้ ก็ต้องรอไปอีก 18 ปี คนรุ่นที่เพิ่มจำนวนนี้จึงจะเข้ามาในอุดมศึกษา ดูเหมือนเราจะต้องอยู่กับวิกฤตนี้ไปอีกนาน อาจารย์ดิเรกเองอดสงสัยไม่ได้ว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรทำไมไม่เคยมีใครเตือนเรื่องเหล่านี้มาก่อนหน้านี้
การลดลงของผู้เรียนทำให้มหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลงแล้วจำนวนหนึ่ง หลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะที่เคยผลิตบัณฑิตปริญญาโทปริญญาเอก ก็ต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีความต้องการคนจบปริญญาเอกจำนวนมากไปเป็นอาจารย์แบบเดิมอีกแล้ว วิชาบัณฑิตศึกษาที่อาจารย์ดิเรกเคยช่วยสอนเป็นประจำ ก็ค่อยๆ มีผู้เรียนลดลงอย่างมาก จนไม่แน่ว่าน่าจะต้องปิดตัวลงในไม่ช้าเช่นกัน
แม้ข้อมูลข่าวคราวเรื่องนี้จะดูน่าตกใจ เหตุที่อาจารย์ดิเรกสอนในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียง เขาจึงอุ่นใจอยู่บ้างว่า แม้คนเรียนจะลดลงอย่างมาก แต่อย่างน้อยคนที่จะเลือกมาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐก็คงยังมีเข้ามาอยู่เสมอ มหาวิทยาลัยที่จะประสบปัญหาน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีมากนัก สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐที่ตัวเองสอนอยู่นั้น อย่างน้อยก็น่าจะมีคนมาเรียนอยู่ดี แต่สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นที่นิยม อาจารย์ดิเรกก็ได้แต่รู้สึกเห็นใจและกังวลใจแทนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น
แต่ยังไม่ทันที่อาจารย์ดิเรกจะผ่อนคลายกังวลเต็มที่ ภูติ ณ ปัจจุบันก็พาให้ดูคนกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้ผ่าน MOOC ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น edX, Coursera, Khan Academy, Udacity, Udemy, … อาจารย์ดิเรกเริ่มเห็นแล้วว่า ใครๆ ก็สามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆ ที่ตนสนใจเองได้ จะเรียนฟรีหรือจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใบรับรองก็แล้วแต่สมัครใจ ความจริงก็เริ่มมีคนตั้งคำถามมากขึ้นถึงความจำเป็นของการมีปริญญา รัฐบาลเองก็เริ่มขู่และตั้งคำถามเตรียมตัดงบสาขาวิชาที่ไม่มีคนเรียน สาขาที่ไม่มีประโยชน์ แถมสำทับว่าจะให้การสนับสนุนเฉพาะสาขาที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ แม้อาจารย์ดิเรกจะแน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองสอนมีประโยชน์ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยกับตนไหม
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างประเทศจำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดผู้เรียนก็กำลังเปิดกว้างเพื่อรับนักศึกษาต่างชาติมาชดเชยนักศึกษาในชาติที่ลดจำนวนลงเช่นกัน นักเรียนปัจจุบันจึงมีทางเลือกในการเรียนภาษาต่างประเทศมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ดูจะถั่งโถมเข้ามา อาจารย์ดิเรกได้แต่วิตกว่าแล้วอนาคตของตนจะเป็นอย่างไร จะมีคนสนใจเรียนภาษาต่างประเทศในประเทศมากแค่ไหน เวลานี้ ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องที่คนตั้งคำถามถึงความจำเป็นความสำคัญของสาขามนุษยศาสตร์แล้ว แต่ยังลามไปถึงความจำเป็นของการศึกษาในอุดมศึกษา ความต้องการที่ลดลงจากทั้งจำนวนประชากรและปัจจัยอื่นๆ
ยังไม่ทันที่อาจารย์ดิเรกจะคิดหาคำตอบอะไรได้ ภูติจากอนาคตก็โผล่ข้ามอุโมงค์เวลามา ฉุดกระชากดิเรกลอยระลิ่วทะลุผ่านหน้าจอมอนิเตอร์สู่โลกอนาคต
ภูติจากอนาคต
ในโลกอนาคต อาจารย์ดิเรกไม่เห็นสภาพมหาวิทยาลัยแบบที่คุ้นเคย ไม่มีผู้คนมากมาย ห้องเรียนถูกเปลี่ยนสภาพเหมือนเป็นห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ผู้คนติดต่อกันผ่านทางโลกเสมือน อาจารย์ดิเรกไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไรกัน แต่ละคนดูหมกมุ่นกับโลกที่ตนเองเข้าไปอยู่ มีเพียงห้องเดียวที่อาจารย์ดิเรกรู้จักคุ้นเคยคือห้องสมุด แม้ขนาดห้องจะไม่ใหญ่โตโอ่โถงเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีชั้นหนังสือวางเป็นแถวเรียงยาวตั้งอยู่เป็นสง่า แต่ก็มีคนนั่งเงียบเหงาอยู่ไม่กี่คนในห้องนั้น
โลกเปลี่ยนแปลงจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ อาจารย์ดิเรกควรจะรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าเขาไม่ได้มัวแต่สนใจเรื่องงานสอนเฉพาะหน้าไปวันๆ อาจารย์ดิเรกเคยได้ยินข่าวของ Watson ในการแข่งเกม Jeorpardy ชนะแชมป์หลายสมัยลงได้ เคยได้ยินเรื่องที่ AlphaGo เอาชนะแชมป์โลกในการแข่งเกมโกะได้ และข่าวคราวอื่นๆอีกบ้างเกี่ยวกับความสำเร็จของ AI แต่อาจารย์ดิเรกก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร เพราะคิดว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ที่คอมพิวเตอร์ทำอะไรได้เก่งเอาชนะคนได้ในเรื่องต่างๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
- IBM computer Watson wins Jeopardy clash, The Guardian, Feb 11, 2011
- AlphaGo seals 4–1 victory over Go grandmaster Lee Sedol, The Guardian, March 15, 2016
- Google’s DeepMind AI can lip-read TV shows better than a pro, NewScientist, 21 November 2016
- A New AI Can Write Music as Well as a Human Composer, Futurism, March 9th 2017
- 11 Times AI Beat Humans at Games, Art, Law and Everything in Between, Interesting Engineering, March 12, 2018
- Google AI claims 99% accuracy in metastatic breast cancer detection, VentureBeat, OCTOBER 12, 2018
- AI beats human players in StarCraft. Here’s why it matters, Tech in Asia, 30 Jan 2019
อาจารย์ดิเรกไม่ได้คิดมาก่อนว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานสอนของตนเองในที่สุด อาจารย์ดิเรกรู้จักและเคยใช้ Google Translation มาหลายปีและได้เคยทดลองใช้เพื่อความขบขันในคำแปลที่ได้ โปรแกรมตรวจแก้ไวยากรณ์ (grammar check) อาจารย์ดิเรกก็เคยได้เห็นมาและก็รับรู้ว่ามีข้อจำกัดมากมาย แต่อาจารย์ดิเรกไม่ได้เฉลียวใจว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้ Alpha Go ชนะในหมากล้อมจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนางาน AI ด้านอื่นๆ ต่อมา เพราะ AI ใช้วิธีการของ deep learning เพื่อจำลองเครือข่ายนิวรอลที่สามารถมองหารูปแบบ ส่วนสำคัญ และความสัมพันธ์ภายในหน่วยต่างๆ ในข้อมูลที่นำเข้าได้ ขอเพียงให้มีข้อมูลจำนวนมากๆ ที่จะใช้ในการเรียนรู้ AI จึงถูกนำมาใช้ในงานเกี่ยวข้องกับภาษามากขึ้น เช่น การถ่ายถอดคำพูด การแปลภาษา การตรวจงานเขียน การเขียนบทความ การเรียบเรียงความจากข้อมูลต่างๆ มาเขียนเป็นหนังสือ การทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าว
- AI In Education — Automatic Essay Scoring, Medium, Mar 14, 2017
- Will Machine Learning AI Make Human Translators An Endangered Species?, Forbes, Aug 24, 2018
- China’s Xinhua agency unveils AI news presenter, BBC News, 8 November 2018
- Automated Journalism — AI Applications at New York Times, Reuters, and Other Media Giants, EMERJ, January 31, 2019
- The Rise of the Robot Reporter, New York Times, Feb. 5, 2019
- The first AI-generated textbook shows what robot writers are actually good at, The Verge, Apr 10, 2019
- Google’s prototype AI translator translates your tone as well as your words, The Verge, May 17, 2019
- Demo: The magic of AI neural TTS and holograms at Microsoft Inspire 2019, Jul 18, 2019
หลังจาก deep learning ทำให้เกิดก้าวกระโดดทางปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยทั่วโลกต่างมุ่งให้ความสำคัญการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่อง ก้าวกระโดดขั้นต่อๆ ไปก็เกิดตามมา ชั่วเวลาเพียง 10 ปีต่อมา กำแพงภาษาที่ขวางกั้นผู้คนก็หมดไป แต่ละคนมีผู้ช่วยส่วนตัวที่ช่วยงานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีล่ามส่วนตัวในการติดต่อผู้คนต่างภาษา การเรียนภาษาต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้สื่อสารกับคนต่างชาติได้อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เข้าใจความคิดและวัฒนธรรมของคนต่างชาติมากกว่า จำนวนคนที่สนใจเรียนภาษาต่างประเทศจึงลดน้อยลงอย่างมาก
สายธารเปลี่ยนทาง
อาจารย์ดิเรกขอให้ภูติแห่งอนาคตพาย้อนกลับไปดูนับจากเวลาปัจจุบันว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับตนเอง แล้วก็พบว่างานสอนของตนเองเองเริ่มลดน้อยถดถอยลง จำนวนผู้ที่เข้ามาเรียนปริญญาโทก็ลดลงเรื่อยๆ จนต้องปิดหลักสูตรไป อาจารย์ดิเรกต้องปวดหัวกับการสอนให้นักเรียนเขียนความเรียงเอง เพราะนักเรียนเริ่มบอกต่อกันว่ามีโปรแกรมช่วยเขียนความเรียง มีโปรแกรมช่วยแปล ซึ่งได้ผลออกมาที่พอใช้ส่งงานอาจารย์ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเขียนเอง นักเรียนบางกลุ่มเริ่มมองว่าการเรียนสาขาอื่นในหลักสูตรนานาชาติคุ้มกว่า เพราะได้ทั้งภาษาและความรู้ที่จะไปทำงานได้ ในขณะเดียวกัน app สอนภาษาเริ่มมีออกมามากขึ้น เริ่มตั้งแต่สอนศัพท์ สอนการออกเสียง สอนบทสนทนาง่ายๆ มีบทเรียน virtual reality ให้นักเรียนไปอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ มีโปรแกรมช่วยตรวจงานเขียน ชี้ให้เห็นคำที่เขียนผิด ใส่สำนวน แนะการใช้คำที่ควรจะเขียนไปด้วยกัน แนะวลีหรือสำนวนที่เหมาะสม app เรียนรู้ด้วยตนเองเหล่านี้มีมากขึ้นและฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนนักเรียนเริ่มเห็นว่าการเรียนภาษาต่างประเทศเองไม่ได้ยุ่งยากลำบากเหมือนเมื่อก่อนและเป็นเรื่องที่เรียนรู้เองได้
ยิ่งนานวันเข้า นักเรียนจำนวนมากหันไปพัฒนาความสามาถทางภาษาต่างประเทศด้วยตนเองมากขึ้น และผลจากจำนวนนักเรียนที่ลดลงเรื่อยๆ คนที่สนใจภาษาต่างประเทศก็ค่อยๆ หดหาย จากระดับปริญญาโทมาสู่ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเองก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ เพราะต้องการลดภาระงบประมาณและบีบให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเองให้ตอบความต้องการของสังคมได้จริงและร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น เมื่อถูกลดงบประมาณลง มหาวิทยาลัยก็เริ่มมองหาหลักสูตรที่คนสนใจน้อยลงเรื่อยๆ เริ่มจากการไม่บรรจุอาจารย์ทดแทนไปจนถึงการขอโยกย้ายอาจารย์สาขานั้นที่มีภาระงานสอนไม่พอไปทำงานอื่นแทน คนที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงก็ทยอยลาออก ท้ายที่สุด หลักสูตรก็ปิดตัวลง อาจารย์ดิเรกเองก็ถูกบีบโดยปริยายให้เกษียณตัวเองก่อนกำหนด
ในขณะที่อาจารย์ดิเรกเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโดยตรง อาจารย์รุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่เห็นและเข้าใจผลการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น อาจารย์เหล่านี้พยายามปรับเปลี่ยนวิชาและวิธีการเรียนการสอนให้น่าสนใจและถูกจริตผู้เรียนมากขึ้น ลดการบรรยายหรือฝึกทักษะภาษาลง แต่ไปเน้นการทำงานจริง การนำปัญหาในชีวิตมาวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับความรู้ในศาสตร์ตน
อาจารย์สอนวรรณคดีไม่ได้สอนเพียงแค่ว่าตัวละคนในเรื่องคิดอะไร ทำสิ่งต่างๆ ทำไม แต่เชื่อมโยงให้เห็นถึงพื้นฐานมนุษย์ในโลก ตัวละครที่แสดงออกถึงคนที่เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร มีลักษณะเด่นอะไร ตัวละครที่จิตใจอ่อนไหวไปมา ขาดความยับยั้งชั่งใจ เหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์หรือบุคคล ดาราในข่าวที่สังคมสนใจอยู่อย่างไร
อาจารย์สอนภาษาศาสตร์ก็ไม่ได้สอนแค่หลักหรือระบบของภาษาแต่สอนให้เห็นถึงรูปแบบภาษาและกลวิธีในการใช้ภาษาที่นักการเมือง ดาราใช้อยู่ในสื่อว่ามีความน่าสนใจอย่างไร ภาษาในสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลต่อผู้คนและความเห็นหรืออคติต่างๆ อย่างไร
อาจารย์สอนภาษาต่างประเทศก็ไม่ได้สอนแค่ให้อ่านออกเขียนได้ถูกไวยากรณ์ แต่สอนให้เข้าใจผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมว่ามีพื้นปรัชญาความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมที่ต่างไปอย่างไร มาจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาตินั้นอย่างไร หรือผลจากความเป็นอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน
อาจารย์เหล่านี้ได้เชื่อมโยงให้นักเรียนเห็นถึงความเกี่ยวข้องศาสตร์ต่าง ๆ ในทางมนุษยศาสตร์และเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเข้าใจในทางมนุษยศาสตร์ที่ช่วยให้เข้าใจผู้คนและสังคมในปัจจุบัน ในภาพยนตร์ ละคร เพลง หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่ามีการแสดงออกเหล่านั้นด้วยเหตุใด แม้ว่าคนที่สนใจเรียนทางมนุษยศาสตร์จะน้อยลงเหมือนกับหลายๆ สาขา แต่คนที่เข้ามาเรียนในช่วงเปลี่ยนผ่านการศึกษานี้กลับได้รับการศึกษาที่ช่วยให้เขาเห็นและเข้าใจความหลากหลาย เห็นถึงเบื้องหลังความคิดต่างๆ ที่ถกเถียงกัน สามารถคิดวิเคราะห์เรื่องราวใหม่ๆ ได้ สามารถหาวิธีการเพื่อให้แต่ละภาคส่วนของกลุ่มงานทำงานร่วมกันได้กลมกลืน
อาจารย์รุ่นใหม่เหล่านี้ยังรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอน คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงและนำสิ่งที่น่าสนใจเป็นประโยชน์มาใช้ในห้องเรียน ทำให้นักมนุษยศาสตร์รุ่นหลังแม้ไม่ได้มีจำนวนคนที่เรียนมากมายเหมือนเมื่อก่อน แต่บัณฑิตที่จบไปเหล่านี้กลับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญทำให้องค์กรหน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลได้ราบรื่น เป็นนักมนุษยศาสตร์ที่จะเติมเต็มเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เข้ากับความต้องการของมนุษย์และสังคมได้
หลังจากภูติจากอนาคตนำอาจารย์ดิเรกกลับสู่โลกเดิมและจางจากหายไป อาจารย์ดิเรกก็เข้าใจในทันทีว่า อนาคตไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดอย่างที่หลายๆ คนหวาดกลัว แน่นอนว่าโลกได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะรับได้หรือไม่ได้ โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่[4] เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีของผู้คนแทบทุกกลุ่มทุกอาชีพ คนที่ไม่กล้าออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย ท้ายสุดก็จะพบว่าวิถีเดิมๆ ที่เคยเป็นมานั้นหดหายไม่สามารถฝืนต่อไปได้ เมื่อเวลานั้นมาถึงก็อาจสายเกินไป ก็จะได้แต่โทษนั่นโทษนี่ โทษระบบ โทษนักการเมือง โทษคนรุ่นใหม่ โทษคนรอบข้าง แต่ไม่เคยหันกลับมามองหรือโทษตัวเอง แต่วันนี้อาจารย์ดิเรกเข้าใจแล้วว่า เขาต้องปรับตัว เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้เข้ากับสายธารที่เปลี่ยนทาง แม้รู้ว่าจะยากลำบาก และเขาเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ รอบๆ ตัวมากขึ้น แต่เขาก็คิดจะเรียนรู้ ทั้งหมดไม่ใช่เพราะกลัวตัวเองจะไม่มีที่ไป ด้วยเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงสิบปี หากจะต้องเกษียณไปก่อน เขาก็ใช้ชีวิตอย่างพออยู่พอกินได้ แต่ที่ต้องยอมสู้ลำบากต่อ เพราะความเป็นครูที่อดห่วงอนาคตของลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ไม่ได้ หากเราไม่เข้าใจ และไม่สามารถสอนให้เขาอยู่ในโลกของอนาคตให้ได้ แล้วลูกศิษย์เราจะอยู่รอดและยังประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร
บทความนี้ดัดแปลงและเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่นำเสนอในงานเสวนา “วิกฤตอุดมศึกษา : ทางรอดของอักษรศาสตร ์”ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑
[1] ทดลองค้นเพิ่มเติมถึงปีปัจจุบัน ใน Blog The “Crisis” in the Humanities ได้ค้นคำนี้ถึงปี 2010 https://blogs.princeton.edu/librarian/2010/11/the_crisis_in_the_humanities/
[2] กราฟจาก https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2018/08/the-humanities-face-a-crisisof-confidence/567565/
แม้แต่ในประเทศไทยเอง “ในปี พ.ศ. 2559 มีนักศึกษาทุกระดับทุกสถาบันจํานวน 2.3 ล้านคน นักศึกษาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72) ศึกษาในสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีนักศึกษาเพียงร้อยละ 28 ศึกษาในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ” (จาก แผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี 2561–2580)
[3] กราฟรายงานจำนวนประชากรและการคาดการณ์มาจาก http://social.nesdb.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx?reportid=697&template=2R1C&yeartype=M&subcatid=1
[4] The Fourth Industrial Revolution: what it means, how to respond https://www.weforum.org/agenda/2016/01/the-fourth-industrial-revolution-what-it-means-and-how-to-respond/