เรียนรู้ภาษาศาสตร์จากภาพยนตร์

Wirote Aroonmanakun
2 min readMar 23, 2022

--

คนทั่วไปมักไม่เข้าใจว่าภาษาศาสตร์คืออะไร มักเข้าใจว่าการเรียนภาษาศาสตร์คือการเรียนภาษาต่างๆ นักภาษาศาสตร์คือคนที่เชี่ยวชาญภาษาต่างๆ. แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าภาษาศาสตร์คืออะไรจริงๆ แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์ยังพบเห็นได้ในหนังและสารคดีต่างๆ จำนวนไม่น้อย ตัวอย่างคลิปต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังและสารคดีที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์

Linguistics in Films and Documentaries

ความเข้าใจคลาดเคลื่อน

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า นักภาษาศาสตร์คือผู้ที่เก่งเลิศเรื่องภาษา สามารถพูดภาษาใดก็ได้. ในหนัง Stargate เมื่อพบกับชาวบ้านต่างดาว ตัวเอกที่เป็นนักภาษาศาสตร์ก็ต้องรับหน้าเป็นคนไปเจรจากับชาวบ้านต่างดาวต่างภาษานั้น. หรือในหนัง Arrival ตัวเอกที่รับบทเป็นนักภาษาศาสตร์ก็ถูกคาดหวังให้แปลภาษาต่างดาวที่ไม่รู้จักนั้นได้ทันที

หนังบางเรื่องอย่าง My Fair Lady ยังเพิ่มความเก่งกาจให้นักภาษาศาสตร์โดยให้สามารถบอกได้ว่าคนๆนั้นอาศัยอยู่ถิ่นไหนย่านไหน เพียงแค่ได้ยินสำเนียงการพูดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งดูออกจะเกินเลยความสามารถที่แท้จริงของนักภาษาศาสตร์อยู่

งานของนักภาษาศาสตร์

นักภาษาศาสตร์แท้จริงแล้วจะสนใจศึกษาและอธิบายข้อมูลภาษาที่พบ. ในหนัง The Professor and the Madman เป็นเรื่องราวของการทำพจนานุกรม Oxford English Dictionary นักภาษาศาสตร์ต้องสนใจข้อมูลการใช้คำและอธิบายการใช้คำนั้นให้คนทั่วไปเข้าใจโดยต้องอาศัยตัวอย่างการใช้จริงที่พบมาเขียนนิยามและอธิบายการใช้คำของแต่ละความหมายให้ชัดเจน

การออกเสียงต่างๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่คนเห็นว่านักภาษาศาสตร์สามารถทำได้ดี หนังอย่าง My Fair Lady ที่ตัวเอกเป็นนักสัทศาสตร์จึงมีบทส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นการฝึกหัดออกเสียง และการใช้เครื่องมือศึกษาลักษณะเสียง.

เมื่อพบพานภาษาใหม่

เมื่อต้องเข้าไปเรียนรู้ภาษาใหม่ในต่างแดน. การเรียนรู้คำ การออกเสียง และระบบภาษาเป็นสิ่งที่คนที่แม้ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ก็ต้องฟันฝ่าเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ หนัง Dances with wolves มีตัวอย่างของคนที่ต้องค่อยๆเรียนรู้ภาษาอินเดียนแดงด้วยตัวเอง.

กรณีภาษามนุษย์ต่างดาวดูเหมือนจะคล้ายกับการพบภาษาใหม่ต่างแดน แต่จริงๆกลับยากยิ่งกว่า เพราะสิ่งมีชีวิตต่างดาวนั้นอาจใช้ระบบและวิธีการสื่อสารที่ต่างจากภาษามนุษย์โดยสิ้นเชิง. Arrival จับประเด็นบทบาทนักภาษาศาสตร์ในการพยายามสื่อสารเข้าใจภาษาต่างดาวนี้

ภาษากับความคิด

คำถามว่าภาษามีอิทธิพลต่อความคิดอย่างไรเป็นคำถามที่มนุษย์เราสนใจมาช้านาน. หนัง Arrival เล่นกับประเด็นที่นักภาษาศาสตร์รู้จักกันในชื่อ Sapir-Whorf Hypothesis. เมื่อเรียนรู้ภาษาต่างดาวแล้ว วิธีคิดและการรับรู้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร. หนังบางเรื่องอย่าง 1984 ยังกล่าวถึงการใช้ภาษาเพื่อควบคุมความคิด. ในสภาพที่รัฐควบคุมสื่อและครอบงำความคิดคนในสังคมด้วยการกำหนดรายการคำที่อนุญาตให้ใช้ได้ผ่านการชำระพจนานุกรม

ภาษากับรหัสลับ

ภาษาที่เราไม่รู้จักก็เป็นเหมือนรหัสลับที่เราไม่เข้าใจได้. Windtalkers นำเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่อเมริกาใช้ผู้พูดภาษา Navajo เป็นคนสื่อสารข้อความระหว่างสงคราม เพราะศัตรูไม่มีใครที่รู้และเข้าใจภาษานี้. แต่ในภาษาที่คนทั่วไปรู้จัก การสื่อสารให้เป็นความลับจำต้องอาศัยวิธีการเข้ารหัสข้อความ. ciphertext คือข้อความที่เข้ารหัสไว้. The Imitation Game นำเรื่องในสงครามโลกครั้งที่สองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรคือ Alan Turing และทีมช่วยกันสร้างเครื่องเพื่อใช้ถอดรหัสข้อความฝ่ายเยอรมันได้

ภาษากับการไขคดี

เพราะแต่ละคนมีการใช้ภาษาแตกต่างกัน. ภาษาที่เราเขียน นอกจากลายมือที่ใช้บ่งบอกตัวตนผู้เขียนแล้ว ตัวภาษาเองไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำ สำนวนที่ใช้ การเขียนที่ผิดหรือเบี่ยงเบนจากมาตรฐาน ก็บ่งบอกถึงตัวผู้เขียนได้. กรณีของ Unabomber ที่ก่อคดีมานานกว่าสิบปีโดยที่ตำรวจไม่สามารถจับตัวได้. หลังจากเขาเผยแพร่เอกสาร Manifesto แล้ว ก็มีคนที่คุ้นกับวิธีการเขียนของเขาจนนำไปสู่การจับกุมตัวได้ในที่สุด. ภาษาจึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่ใช้ในการสืบสวนไขคดีอันเป็นที่มาของนิติภาษาศาสตร์หรือ Forensic Linguistics

ภาษามือ

ใน A Quiet Place เมื่อโลกถูกรุกรานด้วยสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ล่ามนุษย์จากการได้ยินเสียง. ผู้คนอยู่รอดได้ด้วยการหลบอยู่ในความเงียบและเลี่ยงการพูดคุย. ภาษามือเป็นหนทางเดียวที่จะสื่อสารกันได้. แม้ไร้เสียงที่เปล่งมา ภาษามือก็ไม่ต่างจากภาษาปรกติที่ช่วยในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ. ในสารคดี Koko ลิงกอริลลาก็เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยการใช้ภาษามือนี้. คำถามที่ตามมาคือแม้กอริลลาจะเรียนรู้ที่จะใช้ภาษามือได้ แต่กอริลลามีความเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนได้แบบเดียวกับมนุษย์หรือไม่

ฤามนุษย์เท่านั้นที่มีภาษา

นักภาษาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าภาษาเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์เท่านั้น เป็นความสามารถที่ทุกคนมีมาแต่กำเนิด ทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ภาษาเมื่อยังเล็กได้อย่างรวดเร็ว. แต่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้เครื่องสามารถใช้ภาษามนุษย์พูดคุยได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป. Ex Machina เป็นเรื่องของ AI ที่ฉลาดเหมือนมนุษย์นี้ แล้วเราจะมองได้ไหมว่าเครื่องก็มีความสามารถทางภาษาเหมือนมนุษย์ได้. แล้วเรายังถือว่าภาษาเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ได้อีกหรือไม่

ภาษากับสมอง

สมองเป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ รวมถึงการใช้ภาษาด้วย เมื่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษาได้รับความเสียหาย ความสามารถในการใช้ภาษาก็หายไปด้วย. สารคดี Speechless นำเสนอเรื่องราวผู้ป่วยทางสมอง aphasia ที่ต้องสูญเสียความสามารถทางภาษาไป. หรือในหนัง Still Alice เราเห็นชีวิตของนักภาษาศาสตร์คนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากโรค Alzheimer’s

ภาษานฤมิต

จินตนาการมากมายในหนังทำให้ต้องมีตัวละครพูดภาษาสมมติต่างๆ เพื่อให้เหมือนจริงที่สุด นักภาษาศาสตร์จึงมีบทบาทในฐานะผู้สร้างหรือนฤมิตภาษาใหม่ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา Valyrianใน Game of Thrones, ภาษา Klingon ในหนัง Star Trek, หรือภาษา Elvish ในหนัง The Lord of the Rings ภาษานฤมิตเหล่านี้ต่างก็มีคลังศัพท์และไวยากรณ์เป็นของตัวเอง

Tolkien เป็นหนังเกี่ยวกับประวัตินักภาษาศาสตร์ที่หลงใหลในภาษาและนฤมิตภาษาใหม่ๆ ขึ้นมา และเพื่อให้ภาษาเหล่านี้คงอยู่และมีชีวิตก็ต้องสร้างเรื่องราวให้มีผู้คน ตัวละครต่างๆ ใช้ภาษานฤมิตนี้พูดคุยกัน อันเป็นที่มาของวรรณกรรมที่รู้จักกันดีอย่าง The Hobbit, The Lord of the Rings, ฯลฯ

ศาสตร์แห่งภาษา

คนทั่วไปใช้ภาษากันเป็นประจำทุกวันจนไม่ได้คิดว่าภาษามีอะไรน่าสนใจ ​​ แต่แท้จริงแล้วศาสตร์แห่งภาษามีความหลากหลายครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากมาย. สำหรับผู้สนใจทฤษฎีอยากรู้ว่ามนุษย์เรามีภาษาได้อย่างไร แบบจำลองความรู้เป็นอย่างไร เราสามารถสร้างหรือเข้าใจประโยคต่างๆ ได้อย่างไร, หรือสำหรับผู้สนใจอยากรู้เรื่องการรับภาษาของเด็ก การประมวลผลภาษาทางจิตวิทยา, การใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์เพื่อประยุกต์ใช้ในงานด้านภาษาทั้งหลาย, หรือเรื่องของความคิดและวัฒนธรรมที่ต่างกันไปตามความต่างของแต่ละภาษา, ภาษาและมโนทัศน์กับการรับรู้และสร้างความเข้าใจโลก, กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อปลูกฝังหรือตอกย้ำอุดมการณ์ต่างๆ, วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของภาษาจากอดีตถึงปัจจุบัน, การนฤมิตภาษาเพื่อความบันเทิง, หรือแม้กระทั่งการใช้ลักษณะข้อมูลภาษาเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องราวทางภาษาศาสตร์. ภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญแต่กลับมีเรื่องราวให้เรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น. และหากใครใคร่รู้เรื่องทางภาษาศาสตร์มากขึ้น อยากเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวภาษาศาสตร์ ในประเทศไทยเองก็มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่เปิดหลักสูตรภาษาศาสตร์ เช่น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
….

--

--

No responses yet